หลายปีมาแล้วที่ข่าวคราวของสตูลไม่ค่อยปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์นัก ภายหลังข่าวดัง เรื่องการก่อสร้างท่าเรือ ปากบารา ท่าเรือน้ำลึกที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจของโลกตะวันตก และตะวันออกเข้าด้วยกันส่วนที่พอจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักบ้างก็คือ เกาะหลีเป๊ะ และตะรุเตา สถานที่สุดฮิตของนักท่องเที่ยว
มารู้อีกที ปัจจุบัน ปากบารา ได้กลายเป็นที่ตั้งของ สถานีเครือข่ายเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตของทั้ง CAT กสท โทรคมนาคม และ TOT ซึ่งหากจะเอ่ยถึงความสำคัญ ก็พอจะวัดได้จากการที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมสถานี และเปิดโครงการ “เน็ตประชารัฐ” ด้วยตนเอง
พร้อมด้วย พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สถานีเคเบิลใต้น้ำ ที่ว่าคือ เส้นทางการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของซีกโลกตะวันตก- ตะวันออก เข้าด้วยกันในเส้นทางที่เรียกว่า AAE-1 เส้นทางของเคเบิ้ลใต้น้ำ ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท
AAE-1 คือโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เชื่อมต่อภูมิภาค 17 ประเทศ (France, Italy, Greece, Egypt, Saudi Arabia, Djibouti, Yemen, Oatar, UAE, Oman, Pakistan, India, Myanmar, Cambodia, Vietnam, Hong Kong, Malaysia และ Singapore) ผ่านจุดขึ้นบกที่สถานีเคเบิลใต้น้ำ จ.สตูล และเชื่อมต่อผ่านสายไฟเบอร์ออฟติคภาคพื้นดิน แบบ Land Bridge ไปยังสถานี จ.สงขลา ก่อนข้ามมหาสมุทรไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ก่อนเชื่อมต่อไปยังแหล่งข้อมูลสำคัญของโลกอย่าง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
AAE-1 ถือเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำข้ามทวีปที่มีความจุสูง ใช้เทคโนโลยีล่าสุด 100Gbps ต่อหนึ่งคลื่นนำแสง มีความจุอย่างน้อย 32 ถึง 40 Tbps รองรับการให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตของประเทศไทยให้มีความหลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการใช้งานปัจจุบันและระยะยาว
ขณะนี้มีความพร้อมแล้วกว่า 90 % หากเปิดใช้งานแล้ว AAE-1 จะเป็นช่องทางให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านต่างๆของประเทศไทย เพิ่มความจุวงจรสื่อสารระหว่างประเทศ ช่วยลดต้นทุนในการเชื่อมต่อวงจรต่างประเทศ ทำให้การให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ภาคราชการ และธุรกิจด้วยราคาที่ถูกลง โดยเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนที่มีรายได้น้อย และสามารถใช้เป็นเส้นทางสำรองในกรณีเกิดอุบัติเหตุ เช่น จากสมอเรือ แผ่นดินไหวกลางทะเล ทำให้การสื่อสารของประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ข้อเท็จจริงของ AAE-1 คือเส้นทางอินเตอร์เน็ต ที่สร้างความได้เปรียบให้กับประเทศไทยในการเป็น Digital Hub ของอาเซียน และไม่ไกลเกินเอื้อมกับการเป็นฮับของโลก ตามยุทธศาสตร์ชาติ “ไทยแลนด์ 4.0″เพราะเส้นทางดังกล่าว ย่นระยะเวลาการเดินทางของข้อมูลได้กว่า 1,000 กิโลเมตรจากเส้นทางเดิม ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการส่งข้อมูลได้มากกว่า 20 % เมื่อเทียบกับระบบในปัจจุบัน แต่ติดขัดเล็กน้อยก็ตรงที่ว่ามีของดี แล้วจะใช้เป็นหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป