อีอีซี รวมพลังภาคี สนับสนุนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสร้างโครงข่ายจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 18 ก.ค. 2567 ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ
อีอีซี
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ ร่วมกับ นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และ นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และนายดอน ทยาทาน เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง อีอีซี และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้ง 5 หน่วยงานดังกล่าว ขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน และสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน ณ ห้อง Conference 1-2  สำนักงานอีอีซี

Advertisement

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามฯ MOU ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันศึกษาถึงแนวทางสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน สามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับพื้นที่ อีอีซี ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ โดยจะศึกษาและพิจารณาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบการขออนุญาตการตั้งระบบโครงข่ายไฟฟ้า การขอใช้ที่ดินในการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการศึกษาถึงต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า การประเมินต้นทุนและผลประโยชน์เชิงสังคม (Social cost and Social benefit) เพื่อจะเป็นต้นแบบให้เกิดการคำนวนต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ในพื้นที่อื่น ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ MOU ความร่วมมือดังกล่าว จะขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกันกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้กับพื้นที่อีอีซี สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด ผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม รองรับให้เกิดการลงทุนนวัตกรรมใหม่ สอดคล้องกับเป้าหมายพัฒนาในภาพรวมให้ก้าวสู่พื้นที่ Net Zero Carbon Emission ภายในปี 2065 สร้างการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชนและพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในพื้นที่อีอีซี ต่อไป

นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรองรับและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสะอาดอย่างสูง ทาง กฟภ.จึงมีการดำเนินการต่างๆ เพื่อสอดรับ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายไฟฟ้าให้สามารถรองรับแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด การร่วมขับเคลื่อนนโนบายการให้บริการไฟฟ้าสีเขียว UGT: Utility Green Tariff หนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต รวมไปถึงการส่งเสริมการให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access Code : TPA Code เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าแบบเสรี เพื่อทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้โดยตรง 

นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมในการผลิต จัดส่ง และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งจากกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้า Cogeneration และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าสะอาด ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการด้านพลังงานสะอาด ที่มีความจำเป็นสำหรับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนี้ จะต้องมีการเปิดเสรีสำหรับการใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code : TPA Code) เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าอย่างเสรี ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยตอบสนองนโยบายภาครัฐในเรื่องการมุ่งสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060

การเปิดเสรีให้ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third party access) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และจะมีส่งผลดีต่อกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมในเวทีโลกที่มุ่งเน้นในเรื่องของการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงสะอาด ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการเปิดเสรีโดยเร็ว โดยจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม และราคาที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายกันได้  นอกจากนี้ การปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) ต้องกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโดยจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ให้ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลในเรื่องการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้จริงด้วย เพราะจะเป็นปัจจัยที่การลงทุนจากต่างประเทศ

“การศึกษาครั้งนี้ในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีความต้องการไฟฟ้าพลังงานสะอาด จะช่วยให้การพัฒนาในเรื่องนี้ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ จะส่งผลดีต่อประเทศ”

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) กล่าวว่า ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นพลังงานหลักของระบบพลังงานโลก จะมีบทบาทที่สำคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสร้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน  และเป็นการสร้างโลกที่สะอาดและมีสุขภาพที่ดีขึ้นสำหรับคนรุ่นหลัง ขณะที่เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนจะยังคงมีการพัฒนา  และก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเป็นเครื่องมือหลักของมนุษย์ชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ความท้าทายของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นและความเข้าใจของประชาชน  ถึงข้อดีข้อเสียของพลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ลดต้นทุน และเพิ่มเสถียรภาพขึ้นมาได้เทียบเท่าหรือมากกว่าพลังงานจากฟอสซิล ทั้งนี้หมายถึงโอกาสในการลงทุนใหม่หลายล้านๆบาท ภาครัฐและเอกชน  จึงต้องร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ของการพัฒนาโครงข่ายของพลังงานหมุนเวียน  เพราะการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ต้องรวดเร็วกว่าการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่ผ่านมาหลายเท่าตัว

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันให้ใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก อันเนื่องมาจากมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี หรือที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งประเทศไทยยังมีความล่าช้าในการปรับตัวต่อสถานการณ์นี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ (FDI) เริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย มูลนิธิฯ มีความกังวลว่าหากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไป ประเทศไทยอาจสูญเสียความน่าสนใจในฐานะแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งมูลนิธิฯ และประเทศชาติต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน

จากประเด็นดังกล่าวมูลนิธิฯ จึงได้ร่วมกับ 7 องค์กร เพื่อผลักดันให้โครงการฯ นี้เพื่อเป็นโครงการต้นแบบ การใช้พลังงานสะอาด สำหรับอุตสาหกรรมไทยและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นจุดที่ทำให้อุตสาหกรรมไทย เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่มั่นคง มีราคาที่เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของนักลงทุน และผู้ซื้อสินค้าและบริการจากนานาประเทศ