“พระหูยาน ปืนแตก” วัดราชบพิตรฯ ของดีที่ถูกลืม

ตำนานแห่ง “พระหูยาน ปืนแตก” ทำไม่ถึงเป็นเช่นนี้ ไปลองฟังกัน กับตำนานพระเครื่องแห่งวัดราชบพิตรฯ ของดีที่หลายคนมองข้ามไป

Advertisement

หากเอ่ยนามถึง “วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม” กรุงเทพฯ เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี เพราะนอกจากเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ลำดับที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะเดียวกันวัดราชบพิตรฯแห่งนี้ยังได้ชื่อว่า เป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412

ภายในวัดแห่งนี้นอกเหนือจากความงดงามแห่งประติมากรรมด้านอารยสถาปัตย์แล้ว ยังมีพระพุทธรูปองค์สำคัญที่เป็นพระประธานภายในวัดแห่งนี้นั่นคือ “พระพุทธอังคีรส” ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ว่ากันว่าพระนาม “พระพุทธอังคีรส” แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย เป็นพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 ทำด้วยกระไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท ซึ่งเป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงนำไปประดิษฐาน พระพุทธอังคีรส

พระพุทธอังคีรส

และที่เหนืออื่นใดภายในวัดแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “สุสานหลวง” ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักของวัด ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้เพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่าง ๆ กันทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม

จะเห็นได้ว่าวัดราชบพิตรแห่งนี้เป็นสถานที่ทรงคุณค่าทางพระพุทธศาสนา และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และจะเชื่อหรือไม่ว่านอกจากอารยสถาปัตย์ในความงามของสถานที่ ตลอดจนสิ่งสำคัญต่าง ๆที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดดังที่ได้กล่าวกันมาแล้วในข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งมงคลชิ้นสำคัญที่ก่อกำเนิดเกิดขึ้นจากพระอารามหลวงแห่งนี้ เชื่อว่าหลาย ๆคนอาจจะลืมเลือนไปแล้วด้วยผ่านกาลเวลามานาน นั่นคือพระเครื่องที่ทรงคุณค่าอย่าง “พระหูยาน” ปืนแตก จ.ป.ร. รุ่น 100 ปี วัดราชบพิธฯ

“พระพิมพ์หูยานวัดราชบพิตร” จัดสร้างขึ้นโดยล้อพิมพ์จาก “พระหูยาน ศิลปะลพบุรี” เป็นการแกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่มีความสวยงามขนาดพอเหมาะ คือไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป ด้านหลังอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “จ.ป.ร.” จัดสร้างเป็น 2 เนื้อได้แก่ “นวโลหะ” และ “เนื้อทองแดง” ออกแบบและแกะแม่พิมพ์โดย “นายช่างเกษม มงคลเจริญ” ที่รับประกันได้ว่าเรื่องของความงามไม่เป็นสองรองใครในฝีมืองานแกะของท่านผู้นี้

พระหูยาน วัดราชบพิตรฯ (ด้านหน้า)

การจัดสร้างวัตถุมงคล “พระหูยาน” เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปีของวัดราชบพิธฯ จึงมีความพิถีพิถันเป็นอย่างมากโดยกำชับให้ช่างทำการเจือ “เนื้อโลหะ” ทั้งหมดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ เททองวัตถุมงคลเป็นปฐมฤกษ์ ผสมกับแผ่นยันต์ลงอักขระของบรรดาคณาจารย์ ผู้ทรงวิทยาคุณจากทั่วประเทศ 108 รูป พร้อมทั้งชนวนโลหะวัตถุมงคลรุ่นเก่า ๆ ทุกรุ่นของวัดราชบพิธฯลงในวัตถุมงคลทุกแบบทุกเนื้อและทุกพิมพ์ให้ทั่วถึงกัน

ทางวัดจึงได้กำหนดประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกเป็นกรณีพิเศษ ถึง 3 วัน 3 คืน คือระหว่างวันที่ 29-30-31 มกราคม พ.ศ. 2514 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีจุดเทียนชัย ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2514

ขณะที่พระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณจากทั่วพระราชอาณาจักรที่มาร่วมในพิธี ล้วนแล้วแต่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านพุทธาคมในยุคนั้นทั้งสิ้น ที่รับนิมนต์มานั่งปรกบริกรรมเจริญภาวนาจำนวน 108 รูป โดยผลัดเปลี่ยนกันมาร่วมพิธีในเเต่ละวัน

โดยวันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2514 ระหว่างเวลา 16.30 -20.00 น. ประกอบด้วย หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช จ.พระนครศรีอยุธยา ,หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง จ.นนทบุรี ,หลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง จ.สมุทรสาคร ,หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ

ขณะที่ เวลา 20.00 – 22.00 น. ได้แก่ พระอาจารย์โชติ (ระลึกชาติ) วัดวชิราลงกรณ์จ.นครราชสีมา ,หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย ,พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโศธาราม จ.อุดรธานี ,พระอาจารย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน (พระธรรมวิสุทธิมงคล) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ฯลฯ เวลา 22.00 – 24.00 น. ประกอบด้วย พระราชวตาจารย์ วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ ,พระญาณโพธิ (เข็ม) วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ,พระวิเชียรมุนี วัดอินทราม กรุงเทพฯ ,พระพุทธมนต์วราจารย์ (สุพจน์) วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ,พระโสภณมหาจารย์ วัดดาวดึงนาราม กรุงเทพฯ ,พระครูพิบูลมงคล วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ ฯลฯ

สำหรับวันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2514 เวลา 18.00 – 20.00 น. ได้แก่ พระธรรมวราลังการ วัดบุปผาราม ธนบุรี กรุงเทพฯ, ,หลวงพ่อไพฑูรย์ วัดโพธิ์นิมิต กรุงเทพฯ ,พระครูสีลวิสุทธาจารย์ วัดสง่างาม จ.ปราจีนบุรี ,หลวงพ่อแต้ม วัดพระลอย จ.สุพรรณบุรี ,หลวงปู่เย่อ วัดอาษาสงคราม จ.สมุทรปราการ ,พระอาจารย์หนู วัดบางกะดี่ กรุงเทพฯ ,พระอาจารย์มงคล (กิมไซ) วัดป่าเกตุ จ.สมุทรปราการ ,พระครูสมุห์ทองคำ วัดเสาธงทอง จ.ลพบุรี ,พระอาจารย์บุญกู้ วัดอโศกตาราม จ.สมุทรปราการ ฯลฯ

ขณะที่เวลา 20.00 -22.00 น. ได้แก่ พระสุนทรธรรมภาณ วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ,หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ ,พระครูวรพรตศีลขันธ์ (แฟ้ม) วัดป่าอรัญศิกาวาส จ.ชลบุรี ,หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ,พระอาจารย์บุญเพ็ง วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ,พระอาจารย์สุวัจน์ วัดป่าภูธรพิทักษ์ จ.สกลนคร ,พระอาจารย์วัน วัดป่าอภัยวัน (ภูเหล็ก) จ.สกลนคร ,พระอาจารย์สุพัฒน์ วัดบ้านใต้ จ.สกลนคร ,พระอาจารย์ทองสุข วัดถ้ำเจ้าภูเขา จ.สกลนคร ,พระอาจารย์ฟัก สันติธัมโม วัดเขาน้อยสามผาน จ.จันทบุรี ฯลฯเวลา 22.00 – 24.00 น. ได้แก่พระเทพเมธากร วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ,หลวงปู่โต๊ะวัดประดู่ฉิมพลี ธนบุรี กรุงเทพฯ ,พระครูพิชัย ณรงค์ฤทธิ์ วัดสิตาราม กรุงเทพฯ ,พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา จ.พัทลุง ฯลฯ

พระหูยาน วัดราชบพิตรฯ (ด้านหลัง)

หลังพิธีพุทธาภิเษกปรากฎว่าได้มีบรรดานายทหารจากกรมรักษาดินแดน และ กระทรวงกลาโหม ซึ่งอยู่ใกล้กับวัดราชบพิธฯได้มาบูชากันเป็นจำนวนมาก โดยนายทหารที่บูชาไปในสมัยนั้นได้นำพระรุ่นนี้ไปเลี่ยมพลาสติกแล้วไปแขวนกับธงชาติ จากนั้นจึงได้ชักธงชาติระดับเหนือศีรษะ แล้วทำการ “ทดลองยิง”’ผลปรากฏว่าปืนยิงไม่ออกในนัดแรก บรรดาผู้ทดลองจึงได้ทำการตรวจสอบปืนใหม่แล้วยิงอีกนัดคราวนี้ปรากฏว่าเกิดเสียงระเบิดดังขึ้น และพอสิ้นเสียงระเบิดปรากฏปากกระบอกปืนที่ใช้ทดลองยิงแตกเป็นรอยร้าว จึงเป็นที่มาของผู้ที่ศรัทธาเรียกพระรุ่นนี้ว่ารุ่น “ปืนแตก”

นอกจากนี้พระหูยานรุ่นปืนแตกนี้ ยังได้ปรากฏปาฏิหาริย์ช่วยเหลือบรรดาทหารที่อาสาสมัครไปร่วมรบ ในสมรภูมิเวียดนามรอดชีวิตกลับมาเป็นที่ร่ำลือว่าบรรดาเซียนพระหลายรายต่างมีการบอกเล่ากันต่อ ๆ มาว่า พระหูยาน จ.ป.ร. นี้ มีพุทธคุณเข้มขลังมาก ๆ

สำหรับจำนวนการสร้างที่ระบุในใบสูจิบัตรของวัดราชบพิธฯที่จัดพิมพ์ในปี 2513 ระบุว่าสร้างด้วยเนื้อนวโลหะ 5,000 องค์ เนื้อทองผสมที่มีทองแดงเป็นส่วนผสมหลัก 100,000 องค์

ที่มา เว็ปไซต์ อัศจรรย์  http://www.assajan.com