เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน ILINK ตั้งเป้ารายได้ปี 2024 เท่ากับ 7,002 ล้านบาท

ILINK ตั้งเป้ารายได้ปี 2024 เท่ากับ 7,002 ล้านบาท และต้องมีอัตรากำไรสุทธิไม่น้อยกว่า 9% ของรายได้ประกาศปันผล 39 สตางค์ต่อหุ้นราคาพาร์ 1 บาทกำหนดจ่ายปันผล 23 พฤษภาคมนี้
ILINKก่อตั้งบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 1987ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศ โดยได้สร้างปรากฎการณ์ด้วยการไปนำเทคโนโลยีสายสัญญาณ LAN (Local Area Network) เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นรายแรก และนำมาสร้างเป็นธุรกิจเริ่มต้น ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution)โดยการเติบโตต่อมาของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯก็ยังคงมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ด้วยความเชื่อว่า เทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเป็นปัจจัยที่สำคัญให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจและการดำรงชีวิตของมวลมนุษยชาติปัจจุบัน กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลักและ 1 มูลนิธิฯดังต่อไปนี้ 1.ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution Business) 2.ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) 3.ธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom Business & Data Center Business) 4.มูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจ (Interlink Hai Jai Foundation)
ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ เป็นธุรกิจเริ่มต้น และยังคงเป็นธุรกิจหลักที่แข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานทั้งรายได้และกำไร ที่เติบโตต่อเนื่องมาตลอดเป็นระยะเวลากว่า 37 ปีมีการดำเนินธุรกิจ โดย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทตั้งต้นของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ และในปัจจุบันถูกจัดเป็น ผู้นำด้านเทคโนโลยีระบบสายสัญญาณประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่สายสัญญาณ LAN (Local Area Network Cable), สายสัญญาณใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable), สายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cable), สายสัญญาณความปลอดภัย (Security Control) และสายระบบควบคุมอัจฉริยะ (Control Cable) รวมทั้งตู้ 19 นิ้วใส่อุปกรณ์สื่อสาร (19″Rack Cabinets)เป็นต้น
ปี 2024 ธุรกิจจัดจำหน่ายได้ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ช่วยให้โลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น (Technology Transformation) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในตระกูล Super-S Seriesที่มีความเพียบพร้อมทั้งความเป็น SMART ใช้งานได้หลากหลายSMALL ทำให้มีขนาดกะทัดรัดติดตั้งง่าย ลดต้นทุนสายสัญญาณและSAVE  ซึ่งช่วยให้ประหยัดทั้งค่าติดตั้ง และค่าวัสดุในการติดตั้งโดยคาดว่า ผลิตภัณฑ์ในตระกูล Super-S Series จะได้รับความนิยมอย่างสูงในตลาดเอเซียและจะสามารถรองรับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี ข้างหน้า ซึ่งผลิตภัณฑ์สายสัญญาณของ LINK AMERICAN มีการรับประกันยาวนาน 30 ปี ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศอาเซียน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ LINK ที่ถือกำเนิดขึ้นสหรัฐอเมริกา หรือเรียกว่า LINK AMERICAN และผลิตภัณฑ์ 19″GERMANY EXPORT RACK หรือเรียกว่า GERMAN RACKโดยสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไม่น้อยกว่า 80% ในปัจจุบัน
ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ ดำเนินงานโดย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยเน้นงานประมูลโครงการภาครัฐที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่บริษัทฯ หรือกลุ่มบริษัทฯ มีประสบการณ์และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่ โครงการสายเคเบิ้ลไฟฟ้าแรงสูงใต้น้ำ (High Voltage Submarine Cable), โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (High Voltage Transmission Line), โครงการสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน (High Voltage Under Ground Cable), โครงการสถานีไฟฟ้าย่อยแรงสูง (High Voltage Substation)ฯลฯ
ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯมีผลงานที่ได้รับการรับรองจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA), การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT), การไฟฟ้านครหลวง (MEA) และบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เป็นต้น โดยที่ประเทศไทยยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาธารณูปโภคพลังงานไฟฟ้าทำให้หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ PEA, MEA, EGAT ต้องออกมาประกวดราคาโครงการด้านระบบไฟฟ้าต่างๆ และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจึงเป็นโอกาสให้IPOWER ที่มีประสบการณ์และผลงานเป็นที่ประจักษ์สามารถเข้าไปประกวดราคาและได้รับการประกาศให้เป็นผู้ก่อสร้างโครงการต่างๆได้ต่อเนื่องตลอดไป
ธุรกิจคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ จากจุดเริ่มต้นที่กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณใยแก้วนำแสง (Fiber Optic)ให้กับผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telecom Operator) และมีผลงานการติดตั้งโครงข่าย Fiber Optic ให้กับหน่วยงานภาครัฐมากมาย จึงได้นำจุดแข็ง (Strength) ทั้งสองและเพิ่มด้วยสัมปทานการวางสาย Fiber บนเส้นรถไฟและถนนทั่วไป บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ITEL) ได้นำจุดแข็งทุกอย่างมาก่อสร้างโครงข่าย Interlink Fiber Optic เพื่อให้บริการวงจรเช่าความเร็วสูงแก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วไปที่ต้องการเชื่อมต่อข้อมูลการสื่อสารจากทุกๆสาขาเข้าด้วยกัน (Data Connectivity)โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบมีโครงข่ายของตัวเอง จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และได้วางโครงข่าย Interlink Fiber Optic ไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย พร้อมให้บริการมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว
อีกทั้งยังได้ลงทุนก่อสร้าง “ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ Interlink Data Centerณ ศูนย์ Interlink R&D เพื่อให้บริการพื้นที่เช่าสำหรับ Data Centerของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน และ Cloud Web Service ให้หน่วยงานขนาดใหญ่ในต่างประเทศและภายในประเทศรวมทั้งภาครัฐด้วยซึ่งในเวลาต่อมายังได้ร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศออสเตรเลีย ก่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ในชื่อEtixItel Bangkok Data Centerเพื่อรองรับความต้องการระบบWeb Service ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศกำลังเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมาก ตามนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐาในปัจจุบันอีกด้วย
จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่ผ่านมา ITEL ยังสามารถใช้ประโยชน์จากทีมวิศวกรติดตั้งและซ่อมบำรุงทั่วประเทศ ในการไปเข้าร่วมประมูลโครงการรับเหมาติดตั้งและดูแลบำรุงรักษาโครงข่าย Fiber Optic ให้กับภาครัฐและให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมทั้งนำโครงข่าย Interlink Fiber Optic ไปก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมากมายในโครงการต่างๆ เช่น อินเทอร์เน็ตชายขอบ, อินเทอร์เน็ตทางไกล, โครงการเมืองอัจฉริยะต่างๆเป็นต้น

โดยวันนี้ (24 เม.ย.67) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น(AGM)ประจำปี 2567 ในรูปแบบไฮบริด (Hybrid Meeting) ณ อาคารอินเตอร์ลิ้งค์ (สำนักงานใหญ่ ถนนรัชดาภิเษก)โดยมี กรรมการบริษัทฯ กรรมการอิสระ กรรมการบริหาร อาสาพิทักษ์สิทธิ์ ตัวแทนผู้สอบบัญชี และผู้ถือหุ้น เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อรายงานผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ ปีงบประมาณ 2566 เผยถึงแผนการขับเคลื่อนธุรกิจ และทิศทางการเติบโตในอนาคตตามยุทธศาสตร์ “เติบโต อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน แบบมีคุณภาพ”ให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมพิจารณารับทราบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงนำเสนอวาระสำคัญเพื่อการพิจารณาอนุมัติของผู้ถือหุ้น ได้แก่ การอนุมัติงบการเงิน การจ่ายเงินปันผลประจำปี การแต่งตั้งผู้สอบบัญชี การแต่งตั้งกรรมการใหม่ เป็นต้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ถือหุ้นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย

Advertisement

สำหรับผลการดำเนินงาน และผลประกอบการ จากภาพรวมทั้ง 3 ธุรกิจ (ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ และธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์) ตลอดทั้งปี 2566 ที่ผ่านมาทำรายได้พลิกบวก 4 ไตรมาสรวม 6,965.19 ล้านบาท ขานรับทำกำไรสำหรับงวดโดดเด่น อยู่ที่ 712.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170.24 ล้านบาท พุ่งแรง 31.41% ซึ่งรายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณมีรายได้รวม 2,881.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 366.27 ล้านบาท หรือ 14.56% โดยทำกำไรสุทธิรวม 309.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.76 ล้านบาท หรือ 51.82% เมื่อเทียบกับปี 65 และธุรกิจวิศวกรรมโครงการเป็นรายได้จากบริษัทย่อย IPOWER ทำรายได้ก้าวกระโดดจากธุรกิจรวม 1,329.18 ล้านบาท เติบโต 178.96 ล้านบาท หรือ 15.56% และทำกำไรสุทธิรวม 106.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.96 ล้านบาท หรือ 70.45%ในขณะที่มีรายได้จากธุรกิจโทรคมนาคม4 ไตรมาสรวม 2,754.94 ล้านบาท มีกำไรสุทธิรวม 295.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.75 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% โดยในอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 10.74% ของรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32%

ถึงแม้จะทำรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 65 นั้น แต่ในทางกลับกัน บริษัทย่อย ITEL กลับสามารถเพิ่มอัตราทำกำไรสุทธิเทียบกับยอดขายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตแบบมีคุณภาพได้เป็นอย่างดี ย้ำให้เห็นภาพชัดแล้วว่าทุกธุรกิจในเครือสามารถขับเคลื่อนดำเนินงานให้เป็นไปตามแบบแผนและประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ทำกำไรแตะจุดสูงสุดได้เป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.39 บาท จากจำนวนหุ้นที่ชำระแล้วทั้งสิ้น 543,632,325 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 1 บาท เป็นเงินปันผลจ่ายทั้งสิ้น 212.02 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผล ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 และกำหนดวันจ่ายปันผลในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 นี้