กรมควบคุมโรค สั่งการ สคร.6 ชลบุรี ลงพื้นที่ จ. ชลบุรี เฝ้าระวังและประเมินสุขภาพประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม พร้อมแนะวิธีป้องกัน

กรมควบคุมโรค โดย สคร.6 ชลบุรี ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายสาธารณสุข และฝ่ายปกครองอำเภอบ้านบึง ลงพื้นที่ ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนโดยรอบโกดังเก็บสินค้าที่พบกากแคดเมียมและกากสังกะสี เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน ค้นหาผู้ได้รับผลกระทบสุขภาพ พร้อมทั้งสื่อสารความเสี่ยง สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบโดยรอบพื้นที่

Advertisement

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ตรวจสอบพร้อมเฝ้าระวัง และประเมินสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม โดยสารดังกล่าวถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ หากมีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ศูนย์อนามัยที่ 6 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี โรงพยาบาลบ้านบึง สาธารณสุขอำเภอบ้านบึง และทีมสาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่เร่งค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบในบริเวณข้างเคียง ตรวจคัดกรองสุขภาพ และสุ่มตรวจหาสารแคดเมียมในปัสสาวะของประชาชน นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ และแนวทางปฏิบัติตัวพร้อมทั้งประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นบริเวณโดยรอบโกดังเป็นพื้นที่การเกษตรร่วมเฝ้าระวังด้านสุขภาพของพนักงานและประชาชน จำนวน 24 คน (คนไทย 20 คน แรงงานต่างด้าว 4 คน เป็นชาย 14 คน,หญิง 10 คน) โรงพยาบาลบ้านบึง เก็บตัวอย่างเลือด จำนวน 24 ตัวอย่างและปัสสาวะ จำนวน 22 ตัวอย่าง สคร.6 ชลบุรี สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล N 95 ให้กับอำเภอบ้านบึง และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ประเภท FFP2 ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และสื่อสารความเสี่ยงการป้องกัน และสังเกตอาการ ให้กับเจ้าหน้าที่ และประชาชน

ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี สั่งห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายกากของเสียประเภทกากสังกะสีที่มีสารตะกั่วและแคดเมียม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ออกนอกพื้นที่ และประสานทีมสาธารณสุข ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานต่อไป

แพทย์หญิงวรยา เหลืองอ่อน ผอ.สคร.6 ชลบุรี กล่าวว่า สารแคดเมียม มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก และคอ นอกจากนี้ หลังจากการรับสัมผัสเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดพังผืดที่ปอด พิษต่อไต โรคกระดูก หรือที่รู้จักกันในโรคอิไต อิไต และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ควรปฏิบัติตัวดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตพื้นที่โรงงาน 2.หากมีการสูดดมเข้าไป ให้รีบไปอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์ 3.หากเข้าตา รีบล้างด้วยน้ำสะอาดและพบจักษุแพทย์ 4.หากเผลอกลืนกิน รีบดื่มน้ำตามทันที อย่างน้อย 2 แก้ว และ 5. หากมีอาการผิดปกติ รีบปรึกษาแพทย์ทันที ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐเป็นระยะ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422