13 ก.พ. 2567 “ไปยดา หาญชัยสุขสกุล” รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ พร้อมผู้บริหาร ได้เข้าร่วม “พิธีส่งมอบนวัตกรรมการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดติดตั้งในรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินแบบอัตโนมัติด้วยละอองลอยไฮดรอกซิลเรดิคอลแก่หน่วยงานนำร่องในพื้นที่ภาคกลาง และการประชุมเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือเครือข่ายในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย” โดยมี ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี ณ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี
งานในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ TCELS ในการส่งมอบนวัตกรรมการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคชนิดติดตั้งในรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินแบบอัตโนมัติด้วยละอองลอยไฮดรอกซิลเรดิคอล ให้แก่ 3 หน่วยงาน อันได้แก่ เทศบาลนครรังสิต จังหวัดปทุมธานี เทศบาลตำบลแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และมูลนิธิร่วมกตัญญู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนำไปใช้งานจริงในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยระหว่างที่ปฏิบัติการนำส่งผู้ป่วยยังโรงพยาบาล
โดยนวัตกรรมดังกล่าว ที่พัฒนาโดยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พรรัตน์ ไชยมงคล นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยย่นระยะเวลาในการฆ่าเชื้อภายในรถบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมที่ต้องใช้เวลากว่า 120 นาที เหลือเพียง 30 วินาทีถึง 15 นาที ลดต้นทุนการทำความสะอาดจากเดิม 100 บาทต่อครั้ง เหลือเพียง 6 บาทต่อครั้ง และยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ได้ จากเดิมที่ต้องทำการเช็ดถูน้ำยาด้วยตัวเอง เป็นการกดปุ่มเปิดสวิตช์หรือควบคุมด้วยรีโมท ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมผัสกับเชื้อโดยตรง
โดยนวัตกรรมนี้เพิ่งได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ภายในงาน International Exhibition of Inventions in the Middle East ที่จัดโดย Kuwait Science Club ในพระอุปถัมภ์ของเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ณ รัฐคูเวต เมื่อวันที่ 4-7 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรม
-การทำงานของเครื่องใช้กระบวนการออกซิเดชั่นขั้นสูง (Advanced Oxidation Process : AOP) โดยสร้างให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างสารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กับสารละลายโอโซน (ที่ผลิตจาก Ozone generator ภายในเครื่อง) จนเกิดเป็นอนุมูลอิสระไฮดรอกซิลเรดิคอล ที่มีฤทธิ์ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้ โดยไม่ทิ้งสารตกค้าง
– สารละลายที่ใช้กับเครื่อง นวัตกรแนะนำให้ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5% เพื่อสร้างไฮดรอกซิลเรดิคอล
– การทำความสะอาดต่อครั้งใช้น้ำยา (สารละลายไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์) ประมาณ 25 มิลลิลิตร
– แผนในปี 2568 จะขยายผลเพิ่มเติมให้แก่หน่วยงานอีก 5 พื้นที่ พร้อมทั้งพัฒนาระบบเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพการทำความสะอาดของเครื่องและสภาพอากาศภายในรถบริการทางการแพทย์
– เป้าหมายสูงสุด คือ ขยายผลทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้ปรัชญา เจ้าหน้าที่ปลอดภัย ผู้ป่วยปลอยภัย สาธารณชนปลอดภัย