TCELS ร่วมเดินหน้าถอดบทเรียนการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ยกระดับระบบประกันสุขภาพ

TCELS ร่วมถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ (ปี พ.ศ. 2565-2566) พัฒนาระบบการคัดเลือกยาในบัญชียาหลักแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์ ตั้งรับภาวะโรคระบาด อุดช่องโหว่ภาวะขาดแคลนชั่วคราว มุ่งเป้ายาที่ต้องใช้เร่งด่วน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน หนุนการเข้าถึงยาจำเป็นได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม เสริมความแข็งแกร่งให้ระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย ย้ำหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

Advertisement

คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ องค์การมหาชน (TCELS) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ” ระยะต้น (ปี พ.ศ. 2565-2566) เพื่อพัฒนาระบบการคัดเลือกยาในบัญชียาหลักแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์ (NLEM moving forward 2024) ระหว่างวันที่ 15 – 17 มกราคม 2567 ณ โรงแรม ณ ทรีธารา ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม   ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีบัญชียาหลักแห่งชาติมากว่า 40 ปี ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติชุดปัจจุบัน (รอบปี พ.ศ. 2565-2567) ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการคัดเลือกยาในบัญชียาหลักแห่งชาติให้มีความเหมาะสม ทันสมัย สอดคล้องกับความจำเป็นในปัจจุบัน และความก้าวหน้าทางวิทยาการ ภายใต้ปรัชญา หลักการ และเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างเสริมระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

โดยคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้มีการตัดสินใจเพิ่มกลไกการพิจารณายาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนขึ้นเป็นครั้งแรก และกลไกดังกล่าวได้มีการดำเนินการคู่ขนานกับกระบวนการพิจารณายาแบบขั้นตอนปกติ แต่มุ่งเน้นความรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการถาโถมของปัญหาในระบบสุขภาพ อาทิ โรคระบาด ภาวะขาดแคลนชั่วคราวของยาจำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ยังคงไว้ซึ่งการพิจารณาบนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ ที่สนับสนุนด้านประสิทธิผล ประสิทธิศักย์ ความปลอดภัย และคุณภาพ ผ่านกระบวนการที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเหมาะสมกับบริบทของระบบสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของประเทศไทยเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาจำเป็นสำหรับผู้ป่วย ตามมาตรฐานและทันการณ์ให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเสมอภาค เป็นธรรม และเท่าเทียม สอดคล้องตามหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ซึ่งตลอดระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นระยะต้นที่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้ดำเนินการตัดสินใจด้านยา ทั้งกรณียาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและกรณีปกติ มากกว่า 100 รายการ ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นหลายรายการ อาทิ ยาสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยาสำหรับรักษาโรคมะเร็ง ยาชีววัตถุสำหรับโรครูมาตอยด์ ( Rheumatoid Arthritis) ยาชีววัตถุสำหรับโรคโครห์น (Crohn’s disease) อีกทั้ง การมียาจำเป็นบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ผ่านกลไกการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการต่อรองราคา ยังช่วยประหยัดภาระงบประมาณค่ายาของภาครัฐอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติและคณะทำงานภายใต้การแต่งตั้งของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องเพื่อพิจารณารายการยาจากข้อมูลหลักฐานทางวิชาการด้านความปลอดภัย ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ระยะต้น (ปี พ.ศ. 2565-2566) เพื่อพัฒนาระบบการคัดเลือกยาในบัญชียาหลักแห่งชาติในระยะท้าย (ปี พ.ศ. 2566-2567) ให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์เพื่อพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติให้บรรลุวัตถุประสงค์ อันก่อเกิดประโยชน์ต่อระบบสุขภาพองค์รวมของประเทศได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติในรอบการพิจารณาปี พ.ศ. 2565-2567 มีการพัฒนาในเชิงระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่มีกระแสความท้าทายอย่างต่อเนื่อง กองนโยบายแห่งชาติด้านยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงเห็นสมควรให้มีการจัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ระยะต้น (ปี พ.ศ. 2565-2566) เพื่อพัฒนาระบบการคัดเลือกยาในบัญชียาหลักแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์

การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนระบบการคัดเลือกบัญชียาหลักแห่งชาติให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์ 2) เพื่อประเมินผล วิเคราะห์ ถอดบทเรียน และสรุปผลการดำเนินงานพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติระยะต้น (ปี พ.ศ.2565-2566) โดยเฉพาะกลุ่มยาที่จัดเป็นยาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ยา/กลุ่มโรคที่เป็นนโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญ และกลุ่มยาราคาแพง และ 3) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการคัดเลือกยาและพัฒนาการจัดการข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการพิจารณาการคัดเลือกบัญชียาหลักแห่งชาติให้เป็นระบบ

“การประชุมถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ จะช่วยสนับสนุนให้บัญชียาหลักแห่งชาติมีการพัฒนา ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยสามารถเข้าถึงยาจำเป็นในระบบประกันสุขภาพอย่างสมเหตุผลได้เพิ่มขึ้นทั้งในสถานกรณ์ปกติและภาวะขาดแคลนชั่วคราวของยาจำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉิน อันส่งผลให้ประชาชนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม” ดร.จิตติ์พร กล่าวในตอนท้าย

“TCELS มุ่งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสิ่งแวดล้อม “TCELS MAKE EVERY LIFE BETTER”  ศึกษารายละเอียดและบริการของ TCELS ได้ที่ www.tcels.or.th  Facebook: TCELS THAILAND”