ภายหลังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ปรับราคาเนื้อหมู ก.เกษตรฯ เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเกษตรลดต้นทุน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเนื้อหมู
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรในตลาด หลัง ได้รับรายงานถึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติว่าจะมีการปรับราคาขึ้น 2 บาทจากสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดเวทีหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กลุ่มเกษตรกรรายย่อย ผู้เลี้ยงรายใหญ่ และรวมถึงโมเดิร์นเทรด เพื่อขอความร่วมมือให้โมเดิร์นเทรดในการปรับขึ้นราคาจำหน่ายชิ้นส่วนสุกรในราคาที่เหมาะสม โดยไม่ต่ำเกินไปเนื่องจากทำให้เกิดการกดราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม จนทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงกว่ารายย่อยประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ประสานกับกรมการค้าภายในภายใต้กลไกคณะทำงานรักษาเสถียรภาพราคาสุกรของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) เพื่อหามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาในระยะยาวตามแนวทางดังนี้ 1. จัดทำ Big data ของอุตสาหกรรมการผลิตสุกร เช่น ข้อมูลฟาร์ม/ โรงฆ่า/ จำนวนสุกร การขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยง/ พ่อค้าคนกลาง เป็นต้น 2. ดำเนินการปราบปรามสุกรเถื่อนทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้า/ ห้องเย็น/ สถานที่จำหน่าย 3. การขับเคลื่อนและผลักดันการส่งออกสุกรมีชีวิต ซากสุกร และอื่นๆ เพื่อระบายสุกรส่วนเกินออกจากระบบ 4. วิเคราะห์ข้อมูลและปรับสมดุลการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต 5. การส่งเสริมการแปรรูป ดึงปริมาณเนื้อสุกรออกจากตลาด มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ 6. การรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการบริโภคผลผลิตจากสุกร 7. การจัดตั้งกองทุนพัฒนาสุกรเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการผลิตสุกร
ขณะที่มาตรการร่วมกันกับทางกรมปศุสัตว์และกรมการค้าภายใน ในเรื่องของการกำหนดราคาสินค้าสุกร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้สามารถขายสินค้าสุกรในราคาที่เป็นธรรมนั้น จะลดปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง แต่ะจะไม่กระทบต่อผู้บริโภค สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การลดต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตสุกร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ เพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทน คือ ข้าวโพดและถั่วเหลือง ขณะนี้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำร่อง 500 ตำบล ขณะเดียวกันให้กรมปศุสัตว์แนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบทดแทนในสูตรอาหารสัตว์ต่าง ๆ
ด้านนายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวว่า หลังผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่ร่วมประชุม เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 ได้ผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มห้างค้าส่ง ค้าปลีก และร้านเนื้อสุกรที่จะดูแลผู้เลี้ยงสุกรที่ขาดทุนมากว่า 10 เดือน ทำให้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับขึ้น 2 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาอยู่ระหว่าง 68 – 74 บาทต่อกิโลกรัมตามแต่ละภูมิภาค
ทั้งนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติทำหนังสือถึงโดยส่ง 9 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) บริษัท บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท วี.ซี.มีท จำกัด บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัดเพื่อแจ้งการปรับฐานราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มขึ้นอีก 2 บาทฟาร์ม
ซึ่งขอความร่วมมือให้ใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนต่างๆ ให้สอดคล้องตลอดห่วงโซ่การผลิตเนื่องจากหากราคาจำหน่ายชิ้นส่วนต่ำจะส่งผลให้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มต่ำไปด้วย จนผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนเป็นเวลากว่า 10 เดือน โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยที่ต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งจากต้นทุน สุกรขุนมีชีวิต ณ น้ำหนักขายที่ประมาณ 100 กิโลกรัม ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80 บาทต่อกิโลกรัม การปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่า ราคาจะทยอยเข้าสู่ต้นทุนการเลี้ยงก่อนเทศกาลตรุษจีนในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะสามารถยุติปัญหาการขาดทุนได้