กรมชลฯ เตรียมยกเครื่องเขื่อนลำปาวแก้ปัญหาการเกษตร

กรมชลประทานประชุมปัจฉิมนิเทศ ศึกษาความเหมาะสม เพื่อปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ แก้ปัญหาการใช้น้ำด้านการเกษตร พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นชลประทานกว่า 306,963 ไร่

Advertisement
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวว่า กรมชลประทานได้เริ่มโครงการศึกษาความเหมาะสม

“การปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์” รวมระยะเวลากว่า 540 วัน เริ่มตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2565 หลังจากคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) มีมติเห็นชอบให้พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยคํานึงถึงความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบันและความต้องการใช้น้ำในอนาคต เพราะปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูทํานาปีและในช่วงฤดูแล้ง ส่วนฤดูฝนมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง

โดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวมีความจุกักเก็บ 1,980.00 ล้าน ลบ.ม. ที่ตั้งโครงการอยู่ที่หมู่ 11 บ้านสะอาดนาทม ต.ลำปาว อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ และมีพื้นที่ชลประทาน 306,963 ไร่ ครอบคลุมบางส่วนของ อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ และ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ฉะนั้นการศึกษาโครงการต้องประเมินสถานภาพและแนวทางการปรับปรุงเพื่อบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างประชาชน อย่างจริงจัง และในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อสรุปผลการศึกษา รวมถึงรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ มาปรับปรุงรายงานฉบับสุดท้ายให้ครบถ้วน

สำหรับแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการประกอบด้วย การปรับปรุงพื้นที่โครงการชลประทาน 4 ส่วน ได้แก่ 1) พื้นที่หัวงานเขื่อนลำปาว 2) ระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย (LMC) 3) ระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวา (RMC) และ 4) พื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ รวม ราคาการก่อสร้างโครงการเบื้องต้น 2,644.718 ล้านบาท แบ่งเป็น ปรับปรุงระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย (LMC) 757.571 ล้านบาท ปรับปรุงระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวา (RMC) 1,865.803 ล้านบาท ปรับปรุงคลองรับน้ำหลากจากป่าดงระแนง 13.115 ล้านบาท และก่อสร้างระบบส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 8.229 ล้านบาท

โดยกรมชลประทานมีแผนบริหารจัดการการใช้น้ำ คือ ส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยและมีมูลค่าสูง บริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ในแต่ละปี กําหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน และในอนาคตได้เสนอติดตั้งระบบโทรมาตรและระบบควบคุมทางไกล (SCADA) มีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพน้ำ และอุปกรณ์ควบคุมระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยําในการตรวจวัดปริมาณน้ำและควบคุมการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำ

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า การปรับปรุงระบบชลประทานจะทำให้การส่งน้ำเพื่อการชลประทานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นส่งน้ำได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ ลดการสูญเสียน้ำ มีปริมาณน้ำเพียงพอสําหรับบริหารจัดการน้ำให้กับพื้นที่ 306,963 ไร่ ในฤดูฝน และ 207,100 ไร่ ในฤดูแล้ง รวมทั้งพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ 8,350 ไร่ ขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานให้สามารถใช้น้ำได้คุ้มค่า ลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถกักเก็บน้ำและระบายน้ำบรรเทาอุทกภัยได้ ตั้งแต่พื้นที่ในเขตโครงการไปจนถึงบริเวณลำปาวที่บรรจบกับแม่น้ำชี ส่วนอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนก็ใช้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ รวมทั้งใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังใช้เพื่อใช้อุปโภคบริโภค และใช้ในการประปาส่วนภูมิภาค ตลอดจนอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่ายังมีโครงการที่มีศักยภาพพัฒนาในอนาคตอีก หากมีปริมาณน้ำจากภายนอกลุ่มน้ำผันมาเติมให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว เบื้องต้นได้แก่ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ พื้นที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์, โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พร้อมระบบส่งน้ำในพื้นที่ อ.ยางตลาด และ อ.ห้วยเม็ก, โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า

พร้อมระบบส่งน้ำบึงเลิงเปือย พื้นที่ อ.กมลาไสย และ อ.ร่องคํา ซึ่งเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำทำการเกษตร ตามที่ได้มีการร้องขอพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ

นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผวจ. กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่าจังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่กว่า 4.3 ล้านไร่ และประชากรถึง 980,000 คนโดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และบางส่วนเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งต้องยอมรับว่าในการทำเกษตรกรรมมีความจำเป็นต้องอาศัยน้ำเป็นอย่างมาก ปัจจุบันเรามีการจัดสรรน้ำยังไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ด้วยเราสามารถจัดสรรการใช้น้ำได้แต่เพียงพื้นที่ใต้เขื่อนลำปาว ในส่วนพื้นที่เหนือเขื่อนยังไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้ ทำให้เมื่อเวลาเกิดภัยแล้งเราไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้เลย

ในขณะเดียวกันเมื่อถึงฤดูน้ำหลากกับต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยเป็นอย่างมากเพราะเราไม่สามารถทำการผันน้ำในเขื่อนได้ เมื่อมีน้ำมากจนเกินไปจึงต้องปล่อยลงมาสู่ด้านล่าง ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เกษตรกรรมใต้เขื่อน ในขณะเดียวกันพื้นที่ทางตะวันออกของจังหวัดกาฬสินธุ์ก็ประสบปัญหาอุทกภัยจากเทือกเขาภูพาน โดยเฉลี่ยแล้วขณะนี้เราสามารถใช้น้ำได้เพียง 10% ของเขื่อนลำปาว เราเชื่อว่าในการบริหารปรับปรุง รวมถึงการจัดสรรน้ำในเขื่อนลำปาวจะช่วยให้ จังหวัดกาฬสินธุ์ซึ่งเป็นพื้นที่มีรายได้น้อยเป็นอันดับต้นๆของประเทศ จะมีการพัฒนาด้านการเกษตรกรรมได้อย่างดีขึ้นและทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

นายเดช โขลา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านโนนภักดี ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม

นายเดช โขลา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านโนนภักดี ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม มีความเห็นว่า พื้นที่ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชรพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามกันมานานมีประสบการณ์พอสมควร แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือเรามีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้คุณภาพของกุ้งไม่ได้มาตรฐานตามสมควร ดังนั้นเมื่อสามารถแก้ปัญหาในการจัดสวนน้ำได้การเลี้ยงกุ้งก็จะได้มาตรฐาน ซึ่งกุ้งก้ามกรามถือเป็นสินค้าการเกษตรที่โดดเด่นอันหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์เพราะมีรสชาติดีเนื้อนุ่ม และคงสภาพของเนื้อได้เป็นเวลานาน เนื่องจากภูมิภาคในบริเวณเขื่อนลำปาวมีความเหมาะสมในการเลี้ยงกุ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำหรือดินในบ่อที่ใช้เพาะเลี้ยง จึงอยากจะฝากผู้หลักผู้ใหญ่ให้ดูแลในเรื่องนี้ต่อไป