จัดงานใหญ่ ดึง Buyers จากบริษัทชั้นนำเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ หนุนโมเดล BCG ขับเคลื่อน Soft Power

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

กรมพัฒน์ฯ เตรียมจัดงานใหญ่ ดึง Buyers จากบริษัทชั้นนำเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ กับผู้ผลิตสินค้าชุมชนรักษ์โลก ตั้งใจใช้ผลิตภัณฑ์ BCG ขับเคลื่อนพลัง Soft Power ให้เห็นเป็นรูปธรรม

Advertisement

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนที่ดำเนินธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมสร้างโอกาสทางการค้าให้อย่างต่อเนื่อง เตรียมเปิดเวทีให้เจรจาธุรกิจกับคู่ค้า Buyers Traders จากบริษัทชั้นนำของไทย ตอกย้ำเมกะเทรนด์ตลาดกระแสรักโลก รักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยผลิตภัณฑ์ชุมชนรักษ์โลก จาก DBD SMART Local BCG ตอบโจทย์ตลาดคนรุ่นใหม่ ชูจุดเด่นผลิตภัณฑ์ชุมชน BCG ที่มีเอกลักษณ์ ผสมผสานแนวคิดการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้คุ้มค่า ลดการสร้างขยะให้โลก ตั้งเป้า! จบงานมียอดเจรจาการค้าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “โมเดลเศรษฐกิจ BCG Bio-Circular-Green Economy เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นวาระแห่งชาติที่ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อน โดยในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ขานรับนโยบายนี้ โดยเน้นการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ชุมชน (DBD SMART Local BCG) เพื่อสร้างโอกาส ทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมจัดงาน “เจรจาจับคู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชุมชนรักษ์โลก DBD SMART Local BCG” ในวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุม Cosmos ชั้น 4 โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์นพลัส แวนด้าแกรนด์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการชุมชนที่ดำเนินธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG กว่า 100 ราย จากทั่วประเทศ เข้าร่วมเจรจาธุรกิจกับคู่ค้า Buyers Traders ชั้นนำกว่า 20 บริษัท เช่น ห้างสรรพสินค้า (เซ็นทรัล เดอะมอลล์ สยามพิวรรธน์) ModernTrade คิงเพาเวอร์ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ และสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น ตั้งเป้าหลังจบงานจะมีมูลค่าการเจรจาซื้อขายไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท”

 “DBD SMART Local BCG เป็นผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการชุมชนที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพการตลาดและคัดเลือกอย่างเข้มข้นจากคณะกรรมการภาคเอกชนและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามเกณฑ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG และแนวคิด DBD SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น เช่น ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผงกล้วยดิบแกนิคโปรตีนสูง ผ้าและเครื่องแต่งกายที่ย้อมสีธรรมชาติหรือผลิตจาก เศษผ้า โดย S-M-A-R-T หมายถึง ต้องเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ (Superlative), มีการผลิตสินค้า ที่ทันสมัยรองรับตลาดยุคใหม่ (Modern), คงเสน่ห์แห่งเอกลักษณ์ของไทย ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น (Attractive), สินค้า มีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ มีความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง (Remarkable) และมั่นใจได้ในคุณภาพมาตรฐาน (Trust)

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมเดินหน้ายกระดับผู้ประกอบการชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน ชูจุดเด่นด้านอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็น Soft Power สำคัญของไทย อีกทั้งยังผสมผสานความต้องการและกระแสตลาดใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยให้ก้าวไปสู่ตลาดในระดับสากลได้อย่างสง่างาม”