ศึกอิสราเอล-ฮามาส แรง!! ถล่มกันหนัก แรงงานไทยเจ็บ-ตาย ถูกจับเป็นตัวประกัน ก.ต่างประเทศรายงาน คนไทยเสียชีวิตทั้งหมด 12 ศพ บาดเจ็บสาหัส 2 คน และถูกลักพาตัว 11 คน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กลุ่มติดอาวุธฮามาสในฉนวนกาซาเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างเหนือความคาดหมายในวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. 2566 โดยยิงมิสไซล์เข้าใส่จำนวนหลายพันลูก และส่งนักรบเข้าสู่ดินแดนอิสราเอลทั้งทางบก, ทะเล และอากาศ จนเกิดการปะทะกันอย่างหนักหน่วงในหลายเมือง รวมถึงที่ฐานทัพใกล้กาซา
มีรายงานว่า ชาวอิสราเอล และอาจรวมถึงแรงงานไทยอย่างน้อย 2 คน ถูกกลุ่มติดอาวุธฮามาสจับกุมเป็นตัวประกัน และพาตัวไปยังฉนวนกาซา ด้านอิสราเอลตอบโต้ด้วยการระดมโจมตีทางอากาศใส่ฉนวนกาซา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 198 คน ตามข้อมูลจากทางการปาเลสไตน์
นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ ระบุว่า อิสราเอล “เข้าสู่สงครามแล้ว” พร้อมประกาศว่า กลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซา จะต้อง “ชดใช้ด้วยราคาที่ไม่เคยพบมาก่อน”
กระทรวงการต่างประเทศของไทย ออกแถลงการณ์ของไทยต่อสถานการณ์การโจมตีอิสราเอล โดยมีรายละเอียดดังนี้ในนามของรัฐบาลและประชาชนคนไทย กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาล และประชาชนอิสราเอล สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ และความเสียหายต่อทรัพย์สิน ฝ่ายไทยขอแสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะคนไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงและการโจมตีที่ไร้ซึ่งมนุษย์ธรรมในครั้งนี้
รัฐบาลไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะสร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้น และขอร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศในการประณามการใช้ความรุนแรงและการโจมตีในครั้งนี้ รวมทั้งขอแสดงความหวังให้รัฐบาลอิสราเอลสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว
ขณะที่ กระทรวงแรงงานฯ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของกลุ่มฮามาส และสั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เร่งตรวจสอบและดูแลแรงงานอย่างใกล้ชิดทันที ซึ่งจากรายงานของ กิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เบื้องต้นพบว่ามีแรงงานไทยถูกยิงที่ขาได้รับบาดเจ็บแล้ว 1 ราย ทราบชื่อคือ นายชาตรี ชาศรี อายุ 38 ปี เดินทางโดยกรมการจัดหางานจัดส่งไปทำงานเกษตรมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดนครพนม จากการตรวจสอบของกรมการจัดหางาน พบว่าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีแรงงานไทยอีก 2 ราย ซึ่งเป็นสามีภรรยาถูกจับตัวไว้ ทราบชื่อคือ บุญถม พันธ์ฆ้อง อายุ 39 ปี และ ศศิวรรณ พันธ์ฆ้อง อายุ 36 ปี ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ภาพที่เชื่อว่าเป็นคนไทยอีกคนที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน ซึ่งยังต้องตรวจสอบอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศ ได้เปิดหมายเลขฉุกเฉินเพื่อรับแจ้งเหตุ-ช่วยคนไทยในอิสราเอล โดยเปิดหมายเลขฉุกเฉินเพิ่มเติม คือ สถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลข +972 546368150
สำหรับผู้ที่ประสงค์จะติดต่อสอบถามเกี่ยวกับญาติที่พำนักอยู่ในอิสราเอล สามารถติดต่อ Call center กรมการกงสุล ที่หมายเลข 02 5728442 (ตลอด 24 ชม.)
หมายเลขฉุกเฉินกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศที่หมายเลข
064-019-8530
064-019-8907
099-616-4786 (เปิดให้บริการวันที่ 8 ต.ค.2566)
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี ประธานประชุมศูนย์สถานการณ์ฉุกเฉินจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ เข้าร่วม และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เข้าประชุมออนไลน์เพื่อสรุปสถานการณ์ล่าสุด โดยที่ประชุมได้หารือมาตรการต่างๆ รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานไทยในการช่วยเหลือและอพยพคนไทยในสถานการณ์จำเป็น ทั้งนี้ รัฐบาลจะติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ทั้งการดูแลคนไทยในพื้นที่ การเข้าถึงเยียวยาญาติผู้ได้รับผลกระทบ การเตรียมการอพยพ รวมถึงการพิจารณาช่องทางทางการทูตต่างๆ ในการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกจับกุมเป็นตัวประกันต่อไป
นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สรุปผลการประชุม Rapid Response Center (RRC) ต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางขณะนี้ ว่า
1. ไทยเราวางตัวเป็นกลางต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนแนวทางสองรัฐ (Two-State solution) ที่อยู่เคียงคู่กัน โดยขอให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาเพื่อหาแนวทางแก้ไขและหาทางออกร่วมกันอย่างยั่งยืนและสันติ
ทั้งนี้ ไทยขอประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าว โดยมิได้เจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
2. มีคนไทยพำนักอยู่ในอิสราเอลประมาณ 30,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานภาคการเกษตร
ได้รับรายงานว่ามีคนไทยเสียชีวิตทั้งหมด 12 ศพ โดยได้รับการยืนยันจากทางการอิสราเอลแล้ว 2 ศพ ส่วนอีก 10 คน ได้รับทราบข้อมูลจากนายจ้าง โดยยังไม่มีชื่อและต้องรอการตรวจสอบจากทางการอิสราเอลต่อไป
นอกจากนี้ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 คน โดยบาดเจ็บสาหัส 2 คน และถูกลักพาตัว 11 คน
3. ที่ประชุมเน้นเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวยและจำเป็นต้องอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลจะได้ดำเนินการได้อย่างทันท่วงที
พร้อมกับกำลังพิจารณาร่วมกับคณะทูตในอิสราเอลถึงความจำเป็นในการอพยพคนไทยออกมาจากอิสราเอล โดยรัฐบาลอิสราเอลให้คำมั่นในการดูแลความปลอดภัยคนต่างชาติอย่างเต็มที่
4. ที่ประชุมเห็นควรที่จะดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้
1. อพยพคนไทยจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบออกไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
2. แสวงหามิตรประเทศในการอพยพคนไทย
3. กองทัพอากาศมีความพร้อมในการอพยพคนไทยภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ การเดินทางกลับประเทศไทยจะเป็นไปตามความสมัครใจของคนไทย
4. สำหรับการประสานงานเรื่องคนไทยถูกควบคุมตัวได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประสานกับผู้แทนปาเลสไตน์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อแสดงความห่วงกังวลและขอความเห็นใจในการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกลักพาตัว ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์แต่อย่างใด
5. กรมการกงสุลได้ติดต่อกับญาติของผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันแล้ว เพื่อให้กำลังใจ และพร้อมให้ความช่วยเหลือ
6. จะมีการจัดการประชุม RRC ประจำวัน ทุกวัน ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยเริ่มวันที่ 9 ต.ค. 66 เพื่ออัปเดตสถานการณ์และความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือคนไทย