“กลุ่มบริหารการใช้น้ำ 6.0 R ร่วมใจสามัคคี” อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก “เชื่อมั่นกรมชลประทาน” จากแย่งชิงสู่เส้นทางความยั่งยืนทางด้านน้ำ

เรื่องเล่าคนใช้น้ำฉบับนี้ ขอนำเรื่องราวของเกษตรกรกลุ่มหนึ่งของ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ที่ในอดีตเคยเกิดความขัดแย้งแย่งชิงน้ำ แต่แล้ววันหนึ่งกลับแปรเปลี่ยนมาเป็นความร่วมใจรักใคร่สามัคคี จนเกิดกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานที่แข็งแกร่งในชื่อ “กลุ่มบริหารการใช้น้ำ 6.0 R ร่วมใจสามัคคี”

Advertisement

 มีน้ำต้นทุนเพียงพอ แต่ยังขัดแย้งแย่งชิงน้ำ

นายจอน เสนาพิทักษ์ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำ 6.0 R ร่วมใจสามัคคี เล่าว่า “สำหรับเกษตรกรในพื้นที่นี้ มีพื้นที่รับน้ำชลประทาน 6,877 ไร่ และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเรามักไม่ค่อยประสบปัญหาขาดน้ำทำการเกษตรเท่าใดนัก เนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนจากเขื่อนนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเจ้าหน้าที่จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวรได้จัดสรรน้ำให้กับทุกครอบครัว แต่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งนั้นมาจากการขาดความรู้ในการบริหารจัดการน้ำที่เป็นสาเหตุสำคัญ”

การแก้ไขความขัดแย้งในเรื่องน้ำที่เกิดขึ้น กรมชลประทาน มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวรเข้าไปให้ความรู้ด้านการจัดตั้งกลุ่มผู้บริหารการใช้น้ำชลประทาน ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกเริ่มการจัดตั้งเพียงจำนวน 97 คน

 

สร้างกลุ่มสร้างเครือข่าย เติมเต็มความรู้การบริหารจัดการน้ำ

นายประสิทธิ์ อินทร์แก้ว พนักงานการเกษตร ส.4 ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องของการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรในพื้นที่และเป็นนักประสานงานชุมชนชลประทาน อธิบายว่า “กรมชลประทานแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเองทั้งหมดไม่ได้ เราจึงต้องสร้างเครือข่าย ต้องได้รับความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกรด้วยเราเพียงมาช่วยวางโครงสร้างกลุ่มและดึงอาสาสมัครชลประทานเข้ามาช่วยดูแลกระจายข่าวสาร กำหนดหน้าที่ให้สมาชิกและให้เขาได้รับรู้ถึงน้ำต้นทุนเพื่อนำมาวางแผนเพาะปลูก เพราะเรื่องของปากท้องเราต้องรับรู้ร่วมกัน”

นายจอน เสนาพิทักษ์ อธิบายต่อว่า “กรมชลประทาน แนะนำให้เรารวมตัวเป็นกลุ่ม สอนให้เรามีระเบียบข้อตกลงภายในกลุ่ม และประชุมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อหาสาเหตุของความขัดแย้ง ซึ่งก็ทำให้เราพบว่าน้ำที่มีอยู่นั้นแม้จะเพียงพอ แต่เกษตรกรต่างคนต่างก็สูบน้ำไปใช้ ทำให้เกษตรกรที่อยู่ปลายคลองไม่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ”

หมดสิ้นปัญหาการแย่งชิงน้ำ ด้วยการส่งน้ำแบบรอบเวร

ปัจจุบันกลุ่มบริหารการใช้น้ำ 6.0 R ร่วมใจสามัคคี สามารถแก้ไขปัญหาการแย่งชิงน้ำได้แล้ว เพราะสมาชิกทุกคนต่างมีความรู้เรื่องรอบเวรส่งน้ำ ยกตัวอย่าง ใน พ.ศ. 2566 จะมีกำหนดรอบเวรส่งน้ำให้สมาชิกรับน้ำ 9 วัน และหยุดรับน้ำ 9 วัน สลับผลัดเปลี่ยนกันระหว่างสมาชิกที่อยู่ต้นคลองและปลายคลอง ซึ่งทำให้ทุกครอบครัวต่างได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

แต่ทั้งนี้ก่อนจะถึงช่วงส่งน้ำ ก็จะมีการจัดประชุมสำรวจพื้นที่เพาะปลูก จัดทำแผนรับน้ำเข้าคู หลังจากนั้นสมาชิกก็จะร่วมทำความสะอาดและซ่อมแซมคลองส่งน้ำ และเมื่อถึงช่วงส่งน้ำ หากสมาชิกรายใดน้ำไปไม่ถึงแปลงนา หัวหน้าคูจะทำการแจ้งกับประธานกลุ่มเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันนอกจากนี้ยังได้นำน้ำจากโครงการบางระกำโมเดลมาช่วยด้วย จึงทำให้เกิดความมั่นคงเรื่องน้ำในพื้นที่

 

ขอบคุณทุกความเชื่อมั่น

นายภูวดล คำพุฒ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวร เปิดเผยความในใจว่า “ผมในฐานะตัวแทนของกรมชลประทานต้องขอบคุณเกษตรกรทุกคน ที่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะทุกคนมีความเชื่อใจกรมชลประทาน จึงทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ กรมชลประทานจะไม่ทอดทิ้งและเราจะเป็นหลักแห่งความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรทุกคน”

ทุกวันนี้ กลุ่มบริหารการใช้น้ำ 6.0 R ร่วมใจสามัคคี มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 299 คน เป็นจำนวนที่มากขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่า เพราะเกษตรกรต่างมีความเชื่อมั่นต่อกรมชลประทานและสามารถเข้าถึงวิธีการทำงานแบบเป็นกลุ่มนอกจากนี้ สมาชิกทุกคนยังตระหนักรู้ว่าในอนาคตหรือในบางปีอาจต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลุ่มจึงได้มีการรวมตัวพัฒนาทักษะด้านการลดต้นทุนในการทำนา เช่น การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ทำน้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการทำนาปลูกข้าวแบบล้มตอซัง ซึ่งให้ผลผลิตที่ดีเกินคาดและประหยัดเวลาในการเพาะปลูกอีกด้วย

การมีน้ำต้นทุนอย่างเพียงพอนั้น หาใช่ความยั่งยืนทางด้านน้ำที่แท้จริง แต่การเติมเต็มความรู้และพัฒนาความรู้ที่มี แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ต่างหาก ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนทางด้านน้ำได้อย่างที่แท้จริง เหมือนอย่างเช่น เรื่องราวที่น่าสนใจของ “กลุ่มบริหารการใช้น้ำ 6.0 Rร่วมใจสามัคคี” ที่เรื่องเล่าคนใช้น้ำนำมาเล่าให้ศึกษาในครั้งนี้