ถอยดีกว่า!! เล็งยกคำร้องคดีไอทีวี “พิธา”กกต.ชุดไต่สวนแย้มไม่พบมีรายได้จากการประกอบกิจการ

ชุดไต่สวนเทกกต.ชุดใหญ่? เตรียมเสนอยกคำร้องกรณีหุ้นไอทีวี อ้างไม่พบรายได้จากการประกอบกิจการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลฯได้เรียกกกต.แจงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับคดีที่กล่าวหา “พิธา”

Advertisement

จากกรณีนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ได้ระบุถึง สำนวนการสอบสวนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีมาตรา 151 รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งสส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เพราะเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 ได้ถูกส่งมายังชั้นสำนักงาน.กกต.แล้วนั้น

มีรายงานว่า ผลสอบที่คณะกรรมการไต่สวนดำเนินการสืบสวนไต่สวนเสร็จสิ้น ได้เสนอความเห็นว่า “เห็นควรให้ยกคำร้อง” ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญา ที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.66 วันที่ 4-7 เม.ย.ไม่พบว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน มีการประกอบกิจการอยู่และมีรายได้จากการทำสื่อ

อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.

ทั้งนี้ คณะกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนและเสนอรายงานไปยังเลขาธิการ กกต.ซึ่งได้มอบให้รองเลขาธิการ กกต.ให้ดำเนินการจ่ายสำนวนดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้งพิจารณา ตามที่ระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด 2563 กำหนด ก่อนที่จะเสนอให้กกต.วินิจฉัยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านของคณะอนุฯ วินิจฉัยหลายกรณี เมื่อสอบสวนแล้วไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน โดยเมื่อคณะอนุวินิจฉัยได้รับสำนวน หากเห็นว่ามีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน มีข้อสงสัย ก็จะดำเนินสอบสวนเพิ่มเติม รวมทั้งการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งในกรณีคาดว่า คณะอนุวินิจฉัยฯ จะมีการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งให้นายพิธาได้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะรอคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีกกต.ยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ขอให้วินิจฉัยสถานะ ส.ส.ของนายพิธา จากเหตุเดียวกัน ก่อนที่จะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นเสนอ กกต.พิจารณา เช่นที่เคยดำเนินการกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เมื่อครั้งถือหุ้นสื่อ บริษัทวีลัค มีเดีย จำกัด

สำหรับการดำเนินการตามมาตรา 151 นั้น หากที่สุด กกต.มีมติเห็นว่า ผู้สมัครรายนั้นรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัคร ก็จะให้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงาน ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนเมื่อดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จก็จะส่งเรื่องให้กับอัยการ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา

กกต.

ที่ผ่านมาในกรณีของนายธนาธร แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่านายธนาธรมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 แต่เมื่อ กกต.ดำเนินคดีอาญา อัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง

มาตรา 151 นั้น กำหนดว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

สำหรับกรณี กกต.ที่ และ หุ้นไอทีวีของนายพิธา ที่ถูกชี้ว่ามีมูลความผิดนั้น ก่อนหน้านี้

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกหนังสือถึงกกต. เมื่อวัน 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ให้ชี้แจงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับคดีที่นายพิธาถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นไอทีวี สิ่งที่ศาลเรียกร้องให้ กกต. ชี้แจงมีทั้งหมดด้วยกัน 8 ข้อ ระบุดังนี้

1.ประวัติการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1-7 และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งของจำเลยที่ 8

2.หน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งในการประกาศวันเลือกตั้ง การแบ่งเขตการเลือกตั้งทั่วประเทศ ออกแบบบัตรเลือกตั้ง และตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

3.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตอบหนังสือคัดค้านการยื่นคำร้องกล่าวหานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 26 พ.ค. 2566 หรือไม่

4.สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศการแบ่งเขตการเลือกตั้งทั่วประเทศ และออกแบบบัตรเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตการเลือกตั้งทั่วประเทศให้ต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ หรือไม่ เพราะเหตุใด ผู้ใดเป็นผู้ออกแบบและอนุมัติ และเหตุใดจึงต้องมี การแก้วิธีให้หมายเลขของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. แบบแบ่งเขตการเลือกตั้ง ให้แตกต่างจากหมายเลขพรรคที่ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นสังกัดอยู่ในแบบ การเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อ

5.มีการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด และ ภายหลังการเลือกตั้ง มีวิธีจัดการอย่างไรกับบัตรเลือกตั้งส่วนที่พิมพ์เกิน

6.กรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องกล่าวหานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ขาดคุณสมบัติเนื่องจาก ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไร มีการให้นายพิธา ชี้แจงข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไรเพราะเหตุใด และใช้ระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและวินิจฉัยคำร้องนานเท่าใด และได้นำคำสั่งของศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ ลต สสข 9/2566 คดีหมายเลขแดงที่ ลด สสข 24/2566 วันที่ 2 พ.ค. 2566 ที่คืนสิทธิผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส. ให้แก่นายนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ มาพิจารณา หรือไม่ เพราะเหตุใด

7.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกี่สมัยและ ในแต่ละสมัยมีการตรวจสอบคุณสมบัติในเรื่องถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น มาก่อนหรือไม่ เหตุใดจึงมาพบภายหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เคยแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบมาก่อนหรือไม่

และ 8. ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้ารับสมัครเป็น สส. ในเรื่องเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ตรวจสอบไปยังนายทะเบียนบริษัทหรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ เพราะเหตุใด และในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้ารับสมัครเป็น สส. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้หน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะเหตุใด

ซึ่งคดีดังกล่าว เกิดขึ้นจากการยื่นคำร้องของทนายความชื่อนายยงยุทธ เสาแก้วสถิต เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ให้เอาผิด กกต. ในฐานกระทำการในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐโดยทุจริตในหลายประเด็น ตั้งแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งและออกแบบบัตรเลือกตั้งที่สร้างความสับสน เรื่อยไปจนถึงการที่ กกต. ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธาก่อนจะรับสมัครแต่กลับปล่อยปละละเลยจนถึงวันเลือกตั้ง