เรื่องเล่าคนใช้น้ำ ยังคงเกาะติดอยทูี่จังหวัดชัยภูมิ และได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์รองชนะเลิศอันดับ 1 สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่น ประจำปี 2566 กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำบ้านเพชร (คลองฝั่งขวา) จังหวัดชัยภูมิ กับเรื่องราวความยากลำบาก นำมาซึ่งการแย่งชิงน้ำในอดีต แต่ปัจจุบันกลับมามีชีวิตที่สดใสได้ เมื่อทุกคนร่วมใจกันฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคและเปิดใจเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำตามคำแนะนำของกรมชลประทาน
นายทุเรียน ดาทอง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เล่าความเป็นมาของกลุ่มให้ฟังว่า สมัยก่อนเกษตรกร อำเภอบ้านแท่น จะประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าวเป็นหลัก โดยมีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ คือ อ่างเก็บน้ำบ้านเพชร อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ความจุ 19.675 ล้านลูกบาศก์เมตรแต่ปริมาณน้ำที่มีนั้นก็ไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรเลย ซึ่งสาเหตุก็มาจากการขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ ไม่มีกติกาการใช้น้ำร่วมกัน ใช้น้ำอย่างเปล่าประโยชน์ และในที่สุดก็เกิดการแย่งชิงน้ำกันขึ้น
จากปัญหาที่เกิดขึ้นก็ได้รับความช่วยเหลือจากกรมชลประทานที่ส่งเจ้าหน้าที่ชลประทาน โครงการชลประทานชัยภูมิมาให้ความรู้ เรื่องการบริหารจัดการน้ำและแนะนำให้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2554 มีสมาชิกแรกเริ่มประมาณ 60 ครอบครัว
ภายหลังจากการจัดตั้งกลุ่ม อุปสรรคและปัญหาต่างๆ ก็เริ่มบรรเทาลง เพราะสมาชิกมีการระดมความคิด กำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกัน และทุกอย่างจะต้องได้รับการลงมติจากที่ประชุม
นายทุเรียน ดาทอง อธิบายวิธีการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มว่า “ก่อนถึงฤดูส่งน้ำ เราจะมีการประชุมกลุ่ม ซึ่งทางกรมชลประทานจะเป็นผู้แจ้งว่าปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำนั้นมีเท่าไหร่ และสามารถส่งน้ำให้ได้เท่าไหร่ หลังจากนั้นเราจะบริหารจัดการน้ำ โดยส่งแบบฟอร์มความต้องการใช้น้ำไปให้สมาชิกระบุปริมาณน้ำที่ต้องการ หากคำนวณแล้วว่าปริมาณน้ำที่มีนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถจัดส่งให้ได้ ก็จะมีการจัดสรรน้ำส่งไปให้ตามที่ร้องขอ แต่หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็จะให้สมาชิกกลับไปทบทวนใหม่ มีการกำหนดรอบเวรส่งน้ำในฤดูแล้งเดือนละ 2 ครั้ง หากปีไหนน้ำแล้งก็จะไม่ให้มีการทำนาปรัง โดยมีอาสาสมัครชลประทานคอยช่วยตรวจสอบดูแล เพราะหลักการคือทุกครอบครัวต้องมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
นายอ่อนสา หล้าดอนดู่ อาสาสมัครชลประทานและคณะกรรมการกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำบ้านเพชร (คลองฝั่งขวา) จังหวัดชัยภูมิ อธิบายต่อว่า “ฤดูแล้งเราจะใช้น้ำประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนฤดูฝนใช้ประมาณ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยการส่งน้ำนั้นจะมีอาสาสมัครชลประทานคอยดูแล หากเราปฏิบัติตามกติกาเมื่อถึงช่วงเดือนตุลาคม น้ำก็จะกลับมาเต็มอ่างเก็บน้ำและทำให้เรามีน้ำใช้ในปีต่อไปแน่นอน”
นอกจากปัจจุบันสมาชิกจะไม่มีข้อพิพาทกันเรื่องน้ำแล้ว ยังหมั่นหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการประกอบอาชีพ เช่นปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวแบบเดิม มาเป็นการทำนาแบบหว่านแห้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ ไม่เพียงเท่านี้บางครอบครัวยังหันมาปลูกส้มโอ เป็นส้มโอ GI (Geographical Indications) ใช้น้ำน้อยแต่ให้ผลผลิตที่ดีและมีลักษณะเด่น คือ รสชาติหวานเปรี้ยวนิด ๆ และเนื้อสีแดงคล้ายทับทิม ภายใต้ชื่อ “ส้มโอหวานบ้านแท่น” ซึ่งมีให้รับประทานเฉพาะที่จังหวัดชัยภูมิเท่านั้นเรียกว่าสร้างเงินล้านให้แก่เกษตรกรชาวบ้านแท่นหลายครอบครัว
คุณลุงบุญมี นามวงศ์ ประธานกลุ่มผู้ปลูกส้มโอบ้านแท่น และผู้นำส้มโอมาปลูกเป็นคนแรกของอำเภอบ้านแท่น เล่าว่า “ผมเห็นความแตกต่างของส้มโอกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ คือ ส้มโอนั้นยิ่งเก็บไว้นานยิ่งหวานอร่อย ราคาไม่ลด แต่ไม่ว่าเราจะมีความรู้ที่ดีเท่าใด หากขาดน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลัก พืชสวนพืชไร่ ก็ไม่เจริญงอกงามแน่นอน ซึ่งผมก็ขอขอบคุณกรมชลประทานเป็นอย่างมาก ที่สร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเพชรมาให้ประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรอย่างมากที่สุด”
นางงามตา นามวงศ์ เจ้าของสวนส้มโออำเภอบ้านแท่นเล่าว่า “เมื่อก่อนเราลำบากมาก แต่ที่มีวันนี้ได้เพราะกรมชลประทานคอยส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลบริการดีมาก มาให้ความรู้ในการใช้น้ำกับเรา ต้องขอขอบคุณกรมชลประทานและอ่างเก็บน้ำบ้านเพชรจริง ๆ”
ปัจจุบัน กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานอ่างเก็บน้ำบ้านเพชร (คลองฝั่งขวา) จังหวัดชัยภูมิ มีสมาชิกกลุ่มเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จาก 60 คนเป็น 300 คน ปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำบ้านเพชรก็ยังคงสามารถเก็บกักได้เท่าเดิมแต่ปัญหาเรื่องการแย่งชิงน้ำกลับไม่มีให้เห็นเช่นในอดีตนั่นเพราะความร่วมมือร่วมใจของสมาชิก เคารพกติกาการใช้น้ำที่กำหนดไว้ และมองไปที่อนาคตอันยั่งยืนในเรื่องน้ำร่วมกัน