DE.หนุน“ดิจิทัลชุมชนด้านe-Commerce” พัฒนาSMEs

รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการ “ดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce” ต่อยอดบริการ “อร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์” ลดข้อจำกัดการแข่งขันของสินค้าชุมชน พร้อมสนับสนุนไปรษณีย์ไทยใช้ศักยภาพเครือข่ายเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชนผ่านระบบ POS นำร่องที่ชุมชนบ้านสระบัวก่ำ ส่งเสริมประชาชนใช้โครงการรัฐสร้างประโยชน์แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

Advertisement
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า โครงการ “ดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce” เกิดขึ้นจากแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับสินค้าชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนนำสินค้าออกมาขายสร้างรายได้เพิ่ม และมีช่องทางการแข่งขันกับตลาดได้ โดยหลังจากรัฐบาลได้ประกาศนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลให้เป็นเศรษฐกิจใหม่มีรายได้สูง วางเป้าหมายให้เกิดขึ้นภายใน 5-6 ปี โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy)” โดยมีฐานความคิดหลัก คือ เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม โดยเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น เปลี่ยนจาก Tradition SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่และรัฐต้องให้ความช่วยเหลือในการนำสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ในชุมชน ออกมาขายนอกชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย

โครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ร้านค้าประชารัฐรักสามัคคี ประชาชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และศูนย์ดิจิทัลชุมชน ใช้ประโยชน์จากโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ “เน็ตประชารัฐ” ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้เกิดมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจแก่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารและบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจำหน่ายสินค้าและบริการจากชุมชนทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ให้มีมาตรฐาน มีระบบการชำระเงินที่สะดวกปลอดภัย และระบบการจัดส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้มอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) พัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับร้านค้าชุมชน และระบบการบริหารงาน ณ จุดขาย (Point of Sale : POS) เพื่อให้ร้านค้าชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารสต๊อกสินค้า การจำหน่ายสินค้า การลงทะเบียนสมาชิก การสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขาย มาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดภาระและลดต้นทุนในการจัดเก็บสต๊อกสินค้าของร้านค้าชุมชนได้อีกทาง รวมทั้งผลักดันให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการของชุมชนสู่ตลาดภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนห่างไกลได้อย่างยั่งยืน

สำหรับการดำเนินโครงการฯ จะแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560 ทำการคัดเลือกและพัฒนาร้านค้าชุมชนต้นแบบเพื่อติดตั้งอุปกรณ์การบริหารงาน ณ จุดขาย (POS) จำนวนไม่น้อยกว่า 200 หมู่บ้านทั่วประเทศ ระยะที่ 2 ปี 2561 เป็นการขยายผลการติดตั้งอุปกรณ์การบริหารงาน ณ จุดขาย (POS) จำนวน 10,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ และระยะที่ 3 – ระยะที่ 5 ปี 2562-2564 เป็นระยะการพัฒนาโครงการสู่ความยั่งยืน โดยจะขยายผลการติดตั้งระบบงานให้ครบ 29,800 หมู่บ้านทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา ปณท ได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพื่อแข่งขันในตลาด สนับสนุนสินค้าชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือกับบริษัท เอกชัย สาลี่สุพรรณ จำกัด ในการนำสินค้าของบริษัทฯ มาจำหน่ายผ่านบริการ “อร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์” ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน โดย ปณท ได้สร้าง ช่องทางการจำหน่ายอีกหนึ่งช่องทางให้กับบริษัท เอกชัยฯ และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่ง ปณท จะทำหน้าที่จัดส่งสินค้าถึงบ้านลูกค้าทั่วประเทศ ด้วยมาตรฐานการจัดส่งของ ปณท สั่งภายใน 14.00 น. จะได้รับสินค้าในวันถัดไปสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัด จะได้รับสินค้าใน 2 วันถัดไป

ล่าสุด ปณท ได้ประสานงานเพื่อคัดสรรรายการสินค้าอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายผ่านระบบ POS (Point Of Sale) ในโครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลฯ ในการสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินการนำร่องที่ชุมชนบ้านสระบัวก่ำ ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี

“ชุมชนบ้านสระบัวก่ำ ถือเป็นชุมชนนำร่อง ที่ได้มีการติดตั้งระบบ POS e-Commerce ชุมชน ในการสั่งสินค้าตลอดจนถึงการส่งสินค้าไปยังลูกค้า ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการแข่งขันให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยชุมชนบ้านสระบัวก่ำ มีกลุ่มสตรีทอผ้าพื้นเมืองลายโบราณ ที่มีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น แต่ขาดเครื่องมือในการแข่งขันทำให้สินค้าไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จากปัญหาดังกล่าว ปณท จึงได้นำโครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce เข้าไปช่วยส่งเสริมในการสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย พร้อมทั้งได้ทดลองใช้ระบบ POS e-Commerce ชุมชน เพื่อช่วยในเรื่องของการสั่งสินค้าและการจัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งได้มีการเปิดใช้ระบบ POS e-Commerce ชุมชน ที่บ้านสระบัวก่ำเป็นพื้นที่แรกในวันนี้ (15 กันยายน 2560)

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะใช้ศักยภาพของ ปณท ที่มีเครือข่ายสาขาที่ทำการไปรษณีย์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง และมีเครือข่ายเส้นทางการขนส่งมากกว่า 400 เส้นทาง ผนวกกับโครงการวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหมู่บ้าน หรือ “เน็ตประชารัฐ” จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการไปนั้น จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือประชาชนในชุมชนต่างๆ ให้สามารถนำสินค้าออกมาจำหน่าย แข่งขันกับท้องตลาด สร้างเงิน สร้างอาชีพ รวมถึงสร้างความเท่าเทียมกันของคนไทยได้เป็นอย่างดี” ดร.พิเชฐฯ กล่าว