ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป –อสังหาริมทรัพย์ ยึดหัวหาด แชมป์จดทะเบียนธุรกิจใหม่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยตัวเลขมูลค่า ธุรกิจจัดตั้งใหม่ กว่า 50,000 ล้านบาท คาดการณ์เอกชนเริ่มฟื้นตัว
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจและผลการให้บริการประจำเดือน สิงหาคม 2560 เปิดเผยตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจ เดือนสิงหาคม โดยมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม 2560 มีจำนวน 7,159 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 5,979 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,180 ราย คิดเป็น 20% และเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 6,200 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 959 ราย คิดเป็น 15%สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิก มีจำนวน 1,755 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 129 ราย คิดเป็น 8% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 1,626 ราย และเพิ่มขึ้นจำนวน 8 ราย คิดเป็น 0.5% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 1,747 ราย
มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 47,354 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 26,096 ล้านบาท คิดเป็น 123% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งมีจำนวน 21,258 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจำนวน 27,993 ล้านบาท คิดเป็น 145% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 19,361 ล้านบาท
ประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 621 ราย รองลงมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 394 ราย ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 218 ราย ธุรกิจการขนส่งสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 142 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 138 ราย ตามลำดับ
ห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ส.ค.60) จำนวน 1,409,392 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 21.58 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 670,513 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 16.73 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 487,891 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,176 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,446 ราย
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา 2560 (ม.ค.- ส.ค.) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทจำนวน 49,080 ราย มีมูลค่าจดทะเบียนทั้งสิ้น 232,893 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 6,169 ราย คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ม.ค.-ส.ค.59) ซึ่งมีจำนวน 42,911 ราย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ ด้านภาษีเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน อันได้แก่ มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มาตรการภาษีสนับสนุนการจัดทำบัญชีของ SMEs ประกอบกับมีการผลักดันโครงการลงทุน Mega Project ของภาครัฐที่มีเข้ามาเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศหลายโครงการ ทำให้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นรวมทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกมีการขยายตัวเพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีในปีนี้