“สนามบินอู่ตะเภา” ยกเครื่องใหม่ รับ EEC “อุตตม” พาญี่ปุ่นสำรวจชวนลงทุน

เล็งยกเครื่องอู่ตะเภา รองรับศักยภาพด้านการท่องเที่ยว-ลงทุน หนุนรับ EEC รมว.อุตฯ นำทัพต้อนรับคณะรมว.เศรษฐกิจฯ และนักลงทุน จากญี่ปุ่น สำรวจพื้นที่ โชว์ศักยภาพ พร้อมเชิญชวนเข้ามาลงทุน

Advertisement

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะ ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) พร้อมคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นกว่า 500 คนลงพื้นที่ติดตามโครงการระเบียงเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย หรือ EEC

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตฯ ของไทยกล่าวว่า “รัฐบาลและหน่วยงานเศรษฐกิจของไทยมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างมากที่จะผลักดันยุทธศาสตร์การปฏิรูปอุตสาหกรรม การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนการเชื่อมโยงความร่วมมือกับผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก ด้วยการใช้พื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างด้านอื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งในช่วง 6 เดือนตั้งแต่มีนาคม-สิงหาคมที่มีการจัดตั้งสำนักงาน EEC ขึ้นอย่างเป็นทางการนั้น ภาพของโครงการก็เริ่มมีความชัดเจนและเริ่มเห็นสิ่งที่จะเกิดในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มุ่งหวังให้เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ มีความเชื่อมโยงด้านการคมนาคม ประกอบกับการมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างที่พักอาศัยและสถานที่ทำงานในเมืองแห่งอุตสาหกรรมและเมืองแห่งการท่องเที่ยวระดับโลก ด้วย 5 โครงการหลัก โดยมีโครงการ การก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3  เป็นหนึ่งใน 5 โครงการหลักนี้ด้วย

สำหรับโครงการ ก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3  นั้น  มีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 15 ล้านคนในระยะ 5 ปี ซึ่งเฟสแรก อาจมีการพัฒนาเป็นแอร์พอร์ตซิตี้ มีอาคารผู้โดยสาร รันเวย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น อุตสาหกรรมการซ่อมอากาศยาน ส่วนเฟสที่ 2 มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นมหานครการบินที่รองรับจำนวนผู้โดยสารได้ 30 ล้านคนในอีก 10 ปี และ 60 ล้านคนในอีก 15 ปี โดยสนามบินนี้จะใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคม โลจิสติกส์ ผนวกเข้ากับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตฯไทย ขณะต้อนรับ นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

นอกจากนี้จะยังมีโครงการที่ 2 คือ  การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นแผนงานที่รองรับโครงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์เพื่อให้เกิดการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงที่ไร้รอยต่อ สามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น การพัฒนาท่าเรือ 3 ท่าเรือ (แหลมฉบัง-สัตหีบ-มาบตาพุด) โดยการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 เพื่อให้เกิดศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกรถยนต์ 3 ล้านคัน/ รองรับเรือขนส่งขนาดความจุ 1.6 แสนตัน ขณะที่ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 จะพัฒนาเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณูปโภคหลักในการรองรับการขนส่งสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และท่าเรือสัตหีบ จะปรับปรุงให้สามารถรองรับด้านการท่องเที่ยวเรือขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน
ด้านนายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ให้ข้อมูลสนามบินอู่ตะเภาแก่นักลงทุนญี่ปุ่นด้วย โดยระบุว่าในอนาคตจะพัฒนาให้มีศูนย์ซ่อมอากาศยานรวมทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมอากาศยานในภูมิภาค และในอนาคตจะได้รับพัฒนาการเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารให้ทันกับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น จนเกินกว่าศักยภาพที่จะรองรับของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง

ขณะที่ความเห็นจาก นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) หลังเยี่ยมชมพื้นที่ กล่าวว่า “เชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่นมีความสนใจโครงการอีอีซี และที่ผ่านมาผู้ประกอบการญี่ปุ่นได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการ และเห็นว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลไทยเพื่อรองรับโครงการอีอีซีจะทำให้อีอีซีน่าสนใจมากยิ่งขึ้นซี่งนักลงทุนญี่ปุ่นก็คาดหวังเช่นนั้น สำหรับการศึการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อดูลู่ทางการลงทุนวันนี้จะช่วยเสริมสร้างนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้าใจและช่วยดึงดูดการลงทุนมากขึ้น และขอขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานอีอีซี ท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่ได้ให้การต้อนรับคณะนักลงทุนจากญี่ปุ่น เป็นอย่างดี”