5 ประเด็น19 กลยุทธ์ย่อยฟังแล้วมึนมั้ย? “ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี”

มาอีกแล้ว ครับท่าน … ยางพาราเจอทางแก้แบบยาพารา ? “ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี”  5 ประเด็น 19 กลยุทธ์ย่อย ฟังแล้วมึนแทนชาวสวน ก.เกษตรฯ –การยางแห่งประเทศไทยจัดให้แบบเคยๆ กับ “ยาพาราฯ เม็ดใหม่” 

Advertisement

            คิดมากันหลากหลายรูปแบบ ลองกันมาก็หลายครั้งหลายหน เกี่ยวกับความพยามแก้ไขปัญหา และ สร้างแนวทางการพัฒนา “ยางพาราไทย” อย่างยั่งยืน แต่จนแล้วจนรอด แนวคิดของการแก้ไขปัญหายางพารา ก็เหมือนยาพาราเซทตามอล ที่แก้คันไปตามอาการ คือพอเกิดปัญหาทีแล้วก็เอามาใช้ที ให้พอหายๆ ปวดหัวไปเป็นครั้งๆ เหมือนคนไข้หัวใส ไม่ยอมไปหาหมอ ผ่าตัดรักษาโรคให้หายขาด แล้วก็พึ่งแต่ยารักษาไปตามอาการ

 

ครั้งนี้ก็อีกแล้วครับท่านกับ “ยาพาราฯ เม็ดใหม่”  ที่เขาเรียกชื่อกันสวยหรูดูดีว่า “ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี”  ซึ่งวางแผนเดินหน้ายาวกันไป 20 ปีเลยเชียวนะ ลองไปพิจารณาดูว่ายาพาราเม็ดนี้ มันจะแก้ไขปัญหา “ยางพารา” ของไทยกันได้มากน้อยแค่ไหน ไปฟัง “เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า “ยางพารา” ถือเป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดย  ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกยางพาราประมาณ 22 ล้านไร่ และสามารถผลิตยางธรรมชาติได้ 4.4 ล้านตัน โดยผลผลิตดังกล่าว ได้สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางที่มีอยู่ประมาณ 1.6 ล้านครัวเรือน เป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 200,000 คน และในแต่ละปี “ยางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ยาง” สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 400,000 ล้านบาท

แต่ เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดพบว่าอุตฯ ยางพารามีปัญหาหลายประการ ได้แก่ ยางพาราเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยยางพาราที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเพียงแค่ 14% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 86%ถูกส่งออกในรูปของยางที่เป็นวัตถุดิบ และด้วยเหตุที่โครงสร้างตลาดยางพาราเป็นแบบผู้ซื้อน้อยราย ในขณะที่มีผู้ขายจำนวนมาก ส่งผลทำให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าผู้ขาย ในขณะเดียวกันราคายางพาราที่ซื้อขายกันในตลาดโลกยังถูกกำหนดจากตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกว่า 90% เป็นการเก็งกำไร ส่งผลทำให้ราคายางพารามีความผันผวนค่อนข้างมาก นอกจากนั้น ราคายางพารายังได้รับผลกระทบจากราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ทดแทนยางธรรมชาติ โดยเมื่อราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของยางสังเคราะห์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเช่นในปัจจุบัน จึงมีผลทำให้ราคายางสังเคราะห์ปรับตัวลดลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ผลิตหันไปใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติเพื่อลดต้นทุน และในท้ายที่สุด ก็ส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติประสบกับภาวะตกต่ำ จนทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อน และออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล

นอกจากปัญหาเรื่องราคาตกต่ำแล้ว การผลิตยางพาราของไทยยังมีต้นทุนสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้จำเป็นต้องตั้งราคาขายสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีพื้นที่สวนยางส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตป่าสงวน ทำให้ประเทศผู้ซื้อ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่นกำหนดมาตรการ กีดกันการค้าในรูปแบบของการออกมาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐานFSC และ PEFC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยประเทศผู้ซื้อตั้งเงื่อนไขว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราจากสวนยางที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC เท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันส่วนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้จำกัดอยู่แค่ไม้ยางพารา แต่หากเมื่อใดที่มาตรการดังกล่าวขยายผลไปถึงยางแปรรูป จะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจนถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ นอกจากนั้นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานกรีดยาง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ก็ถือว่าเป็นปัญหาท้าทายที่จำเป็นต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ซึ่งหากปัญหาและความท้าทายที่กล่าวมาไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยต้องย่ำอยู่กับที่ โดยเมื่อใดที่มีปัญหาราคายางตกต่ำเกษตรกรก็จะออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งในท้ายที่สุดรัฐบาลก็จะต้องออกมาตรการต่างๆ ออกมาเยียวยา และด้วยเหตุที่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้างได้ ทำให้งบประมาณที่รัฐบาลใช้ในการเยียวยาปัญหายางพาราไม่เกิดประโยชน์ เหมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาที่จะต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างโดยเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ พร้อมกับลดการส่งออกยางวัตถุดิบ เพื่อวางรากฐานให้อุตสาหกรรมยางพาราของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

นั่นไงที่มาของ “ยาพาราเม็ดใหม่” ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหายางพาราไทย ทั้งระบบ แต่แบบว่าเอ่อนะ …ไหนๆ จะมี “ยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี” ทั้งที จะไม่พูดกันถึงเรื่องของ “การสร้างนวัตกรรม การคิดค้นอะไรใหม่ๆ การใช้ยางพาราเป็นวัสดุส่วนประกอบกันบ้างเลยเหรอ? ว่ากันแต่เรื่องของการจะขายกันอย่างเดียว แบบนี้จะดีเหรอ?

คราวนี้ไปฟังเรื่องมึนๆ หนักเข้าไปอีกกับ “ดร.ธีธัช สุขสะอาด”  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการ ที่กล่าวว่า “ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ได้กำหนดวิสัยทัศน์เอาไว้ว่า “เป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตและการส่งออกยางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา” โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวประกอบด้วย 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 19 กลยุทธ์ย่อย โดยประเด็นยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ประเด็นนั้น ประกอบด้วย (1) การสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง (2) การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน (3) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (4) การพัฒนาตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย และ (5) การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน

ดร.ธีธัช สุขสะอาด  ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

ขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไป คือ การจัดทำประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี คณะทำงานฯ จะนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุง “ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี” ให้เป็น “ยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี” ที่สมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ยางพารา และกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ต่อไป”

เป็นไงหละ “ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี” ที่หวังจะเอามาแก้ไขปัญหา “ยางพาราไทยทั้งระบบ” ที่ฟังๆ ดูเข้าท่า แบบมึนๆ สุดท้าย ก็จะเอาร่างฯ ที่ว่านี่แหละ ไปประชาพิจารณ์ ไปถามชาวบ้านแบบประชาพิจารณ์ เหมือนเอายาพาราไปถามว่า “ปวดหัวแล้ว อยากกินอันนี้มั้ย? 5 เม็ดใหญ่ กับ อีก 19 เม็ดเล็ก กินเข้าไป”

 

“5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 19 กลยุทธ์ย่อย” กับ “ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี” นอกจากจะถูกตั้งคำถามว่านี่คือยาพราเม็ดใหม่? แล้ว แค่เจอ 5-19 เข้าไป มึนหนักเข้าไปอีก จากเดิมๆ เกษตรกรชาวสวน ปวดหัวๆ กับราคายางอยู่แล้ว เจอ ทางแก้แบบยาวๆ ยุ่งเหยิงๆ กับร่างนี้ฯ ชาวสวนยางจะคิดยังไง? และสุดท้ายมันแก้ได้จริงมั้ย?

หรือมันก็ค่ายาพาราเม็ดใหม่ที่จะมาแก้ไขยางพารา ที่คิดมาโดยระบบราชการ แค่ชื่อร่างกับรายละเอียด 5+19 เท่านี้ก็น่าจะพอสันนิษฐานได้ ว่าคำตอบที่ว่า “แก้ได้มั้ย” มันจะออกมาแบบไหน

หรือ “ร่างยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี”  5 ประเด็นยุทธศาสตร์ 19 กลยุทธ์ย่อย แค่ฟังก็มึนแทนแล้ว บอกตรงๆ