ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อ แนวคิดในการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติภายใต้ พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ในลักษณะบริษัทโฮลดิ้งน่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจดีขึ้น ปฏิรูปเพื่อให้บริการสาธารณะดีขึ้น ลดภาระการคลัง สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพมากขึ้น เพิ่มธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ลดการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ในทางที่มิชอบหรือเบี่ยงเบนไปจากพันธกิจหลักขององค์กรนั้นๆ กฎหมายรัฐวิสาหกิจใหม่ไม่น่าจะมีเป้าหมายหลักเพื่อการแปรรูปหรือเป็นการออกกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจอำพรางแบบยกเข่งแต่อย่างใด ส่วนแนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจะใช้วิธีการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนหรือแปรรูปก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องปิดทางเลือกทางนโยบายในอนาคต
รัฐวิสาหกิจจะถูกตรวจสอบเพื่อให้การบริหารงานมีความโปร่งใสมากขึ้น กรรมการและผู้บริหารก็จะเป็นนักบริหารมืออาชีพ หากสามารถสรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีธรรมาภิบาลโปร่งใสมาบริหารได้ จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐวิสาหกิจในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ประสบการขาดทุนอย่างมาก มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้
เสนอแนวทาง 5 ข้อเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักการสำคัญ 6 เรื่องในกฎหมายรัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ คือ
กำหนดให้รัฐวิสาหกิจถอนตัวจากกิจการที่เอกชนดำเนินงานได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า และต้องไม่ไปแข่งขันเอกชน สนับสนุนแนวทางเสรีนิยมเพื่อลดภาระทางการคลังและการสิ้นเปลืองงบประมาณและสูญเปล่าเงินภาษีประชาชน
รัฐยังคงกิจการที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์แห่งชาติที่มีข้อผูกพันทางสังคม และต้องให้บริการประชาชนและมีความจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตประชาชนโดยไม่ให้ผลตอบแทนเชิงพาณิชย์
ต้องมีการแบ่งแยกหน้าที่อย่างชัดเจนออกจากกัน คือ การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ (เป็นหน้าที่ของรัฐบาล) การกำกับดูแล (หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแล) การประกอบกิจการให้บริการ (เป็นหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ และ เอกชนที่มารับสัมปทาน)
ให้มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน และบูรณาการกัน ไม่ซ้ำซ้อน
รัฐบาลควรเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการรัฐวิสาหกิจโดยทำให้เกิดการปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ
รายได้ที่เกิดจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของรัฐวิสาหกิจ หรือ รายได้ที่เกิดจากการแปรรูปก็ตาม ควรแบ่งออกเป็น ห้าส่วน หากมีการแปรรูปเกิดขึ้นให้นำเอาผลประโยชน์จากการแปรรูปมาจ่ายเงินเดือนให้กับประชาชนทุกคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนและจัดเป็นกองทุนสวัสดิการและเงินเดือนให้กับผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีที่ไม่ได้อยู่ในระบบสวัสดิการใดๆ ขอเสนอการแปรรูปแนวใหม่ และจะไม่เรียกว่า Privatization แต่ขอเรียกว่า People Capitalization โดยหุ้นที่กระจายขายในการแปรรูปแนวใหม่นี้ 50% จะต้องมีประชาชนและพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของ และ หุ้นส่วนหนึ่งจะโอนให้กองทุนสวัสดิการสังคม