ควันหลงสงกรานต์..มาจากไหนใครเริ่ม?

เอาล่ะครับ นอกจากความเชื่อเรื่องเหล่านางสงกรานต์ที่จะถือเป็นของคู่กับประเพณีสงกรานต์ของไทยแล้ว ก็ยังจะมีประเพณีการเล่นน้ำปะแป้งที่โด่งดังไปทั่วทั้งโลก จนทำให้นานาชาติต่างเรียกขานวันสงกรานต์อีกอย่างนึงว่า “เทศกาลน้ำ” (Water Festival) และด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังนี้ ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเพณีสงกรานต์กลายมาเป็นหนึ่งในเทศกาลประจำปีที่ชาวต่างชาติต่างปักหมุดหมายเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในบ้านเราแล้ว แต่ผลจากความสำเร็จของประเพณีการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ของไทยนั้นก็ยังก็ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านที่แสนดีของเรา (?) อย่าง “ประเทศกัมพูชา” ต้องรีบออกมาอ้างหรือที่เรียกอย่างง่ายๆว่า “เคลม” ความชอบธรรมตามนิสัยด้วยเหมือนกัน เพราะนอกจากทางฝ่ายกัมพูชานั้นก็ถือช่วงสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ของตนเหมือนกัน โดยทางเขาจะเรียกว่า “บน โจล ชนัม ทเม็ย”  (ចូលឆ្នាំថ្) แปลว่า “บุญขึ้นปีใหม่” ซึ่งเทศกาลบน โจล ชนัม ทเม็ยนี้จะมีอยู่สามวัน และมีธรรมเนียมการทำบุญและรวมญาติเหมือนกับทางฝ่ายเราเปี๊ยบเลยครับ และนอกจากนี้ก็ยังมีการอ้างอิงในหน้าประวัติศาสตรยุคจักรวรรดิ (อีกแล้ว) ว่า มันเป็นวัน “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” (ជ័យវរ្ម័នទី៧) ผู้ยิ่งใหญ่ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพจามปา (Champa) ที่ได้ยกทัพเข้ามายึดครองแผ่นดินเขมรอีกด้วย จึงทำให้ทางภาครัฐของกัมพูชาพยายามจะกล่าวอ้างว่าตนเป็นต้นตำหรับวันสงกรานต์และประเพณีการเล่นน้ำที่แท้จริง เหมือนที่ตนพยายามจะทำกับมวยไทยที่เป็นกระแสอยู่ใน ณ เวลานี้นั่นล่ะครับ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางฝ่ายกัมพูชาจะพยายามสมอ้างในความเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลสงกรานต์อย่างออกนอกหน้าเพียงใดก็ตาม แต่เรากลับไม่ปรากฏหลักฐานใดที่บ่งฟ้องว่ามีการเล่นน้ำสงกรานต์มาตั้งแต่ยุคพระนครแต่อย่างใดเลยล่ะครับ หรือแม้แต่ทางฝั่งไทยเองก็ไม่ปรากฎหลักฐานเป็นจารึก , พงศาวดาร หรือแม้แต่งานจิตรกรรมใดๆตั้งแต่สมัยสุโขทัยลงมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ที่บ่งบอกว่ามีการเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์เหมือนกัน หากแต่ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นจะมีการบันทึกถึงพระราชพิธีสำคัญในช่วงเดือนห้าอยู่ 2 อย่างก็คือ “พระราชพิธีเผด็จศกลดแจตร” และ “พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน”

การแข่งเรือในเทศกาลน้ำหรือบุญอูมตกในปัจจุบัน

สำหรับพระราชพิธีเผด็จศกลดแจตรนั้นก็คือพระราชพิธีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่นั่นเองล่ะครับ ซึ่งทางราชสำนักนั้นจะจัดพิธี พร้อมกับเปิดมณฑลท้องสนามหลวงเพื่อจัดมหรสพต่างๆอย่างยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะการละเล่นผาดโผนต่างๆไปจนถึงการประลองยุทธใหญ่ของเหล่าทหารและพวกขุนศึกเพื่อให้ประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมไปพร้อมกับองค์กษัตริย์อีกด้วย

ส่วนของพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลคเชนทรัศวสนาน” และอาจเรียกอย่างย่อได้ว่า “พระราชพิธีออกสนามใหญ่” นั้นจะถือเป็นพระราชพิธีภายในราชสำนักเพียงอย่างเดียว โดยพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานหรือการออกสนามใหญ่นั้นก็คือการที่ทางวังจะจัดพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาศรีสัจจปานกาลหรือการถือน้ำสาบานให้เหล่าขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าดื่มน้ำสาบานตนเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อองค์เจ้าเหนือหัว แล้วจากนั้นจะเป็นพิธีใหญ่บนท้องสนามหลวงที่จะเริ่มจะ “พิธีทอดเชือกดามเชือก” ของพราหมณ์พฤฒิบาศอันเป็นพิธีเกี่ยวกับช้างศึกโดยเฉพาะ เพราะด้วยถือว่าช้างเป็นราชพาหนะสำคัญ จึงต้องมีการทำพิธีทางศาสนาเพื่อขับไล่เสนียดจัญไรและเป็นสิริมงคลแก่ช้างและบรรดาขุนนางในกรมพระคชบาลหรือกรมช้างโดยเฉพาะ และนอกจากนั้นก็จะเป็นพิธีสำหรับม้าศึกซึ่งมีแนวคิดเดียวกับพิธีของช้าง และในส่วนสุดท้ายก็จะเป็นพิธีสวนสนามใหญ่โดยกองกำลังจากทั่วทั้งอาณาจักรบนท้องสนามหลวงเพื่อให้กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทอดพระเนตร และจุดประสงค์ของการประกอบพิธีสวนสนามนี้ก็เพื่อนที่เหล่าขุนนางและกองกำลังทั้งฝ่ายกลาโหมและพลเรือนได้แสดงความพร้อมของกองทัพ หรือแสนยานุภาพของกองทหารให้ปรากฏแก่ขุนนางข้าราชการ และยังรวมถึงเหล่าเจ้าประเทศราชที่ต้องเสด็จมาเข้าร่วมเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อราชสำนักอยุธยาอีกด้วยเช่นกันล่ะครับ

นอกจากพระราชพิธีหรือรัฐพิธีแล้ว ในส่วนของการเฉลิมฉลองในวันสงกรานต์ของคนไทยแต่เดิมนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการเล่นสาดน้ำใส่กันแต่อย่างใด และพิธีที่มีการใช้น้ำจริงๆก็มีการแต่ประเพณีการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่และการรดน้ำองค์พระพุทธรูปประจำบ้านหรือที่วัด หรือที่เรียกว่าการสรงน้ำพระก็เท่านั้น และในส่วนพิธีสงกรานต์ของทางฝั่งเขมรที่อ้างอิงจาก “พระราชพิธีทวาทศมาส” หรือพระราชพิธีสิบสองเดือนของเขมรนั้นก็มีลักษณะไม่ต่างไปจากพระราชพิธีเดือนห้าของเรา คือมีทั้งพิธีทั้งสงฆ์ , พราหมณ์ และพิธีทางการทหารเหมือนๆกัน และแน่นอนว่าในส่วนของพิธีของชาวบ้านก็แทบไม่ต่างไปจากเราอีกเช่นกันนั่นล่ะครับ

สรุปก็คือ ไม่ว่าจะพิธีหลวงหรือพิธีราษฎร์ของทั้งไทยและเขมรต่างมีรายละเอียดที่เหมือนๆกัน และที่แน่นอนก็คือไม่มีการเล่นน้ำเหมือนกันทั้งคู่นั่นล่ะครับ

ถ้าเช่นนั้น จุดเริ่มต้นของการเล่นน้ำในวันสงกรานต์มาจากไหน?

ภาพจำลองการเล่นน้ำของชาวพม่าหรือเมียนมาร์ในอดีต

คำตอบคือมาจากชาวพม่าหรือเมียนมาร์ครับ โดยชาวพม่าหรือเมียนมาร์จะเรียกเทศกาลสงกรานต์ของตนเองว่า “ตะจาน” (သင်္ကြန် – Thingyan) ซึ่งนอกจากพวกเขาจะมีธรรมเนียมการทำบุญประจำปีและรวมไปถึงการรวมญาติแบบเดียวกับเทศกาลสงกรานต์ในที่อื่นๆแล้ว แต่เนื่องจากชาวพม่ามองว่าในเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนนี้เป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของปี พวกเขามักเอาขันใส่น้ำเพื่อหยอกล้อกันในครอบครัวหรือในละแวกบ้านของตน จนกลายมาเป็นธรรมเนียมเฉพาะในหมู่ชาวพม่าและมอญที่จะต้องมีการเล่นสาดน้ำใส่กันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จวบจนกระทั่งพม่าได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว ชาวพม่าก็ได้พัฒนาการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ของตนด้วยการนำสายฉีดน้ำมาฉีดใส่ และโดยเฉพาะการเอาถังน้ำหรือโอ่งมาไว้บนหลังรถบรรทุกเพื่อออกเล่นน้ำกันมาก่อนแล้ว โดยทุกท่านสามารถดูได้ในภาพยนตร์ฟิล์มขาวดำที่ถ่ายเหตุการณ์การเล่นน้ำของชาวพม่าในกรุงร่างกุ้งเมื่อปี ค.ศ. 1946 หรือในปี พ.ศ. 2489 หรือเพียงหนึ่งปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ได้สิ้นสุดลงนี้ได้เลยครับ

ภาพถ่ายการเล่นน้ำสงกรานต์ที่เชิงสะพานนวรัฐ จ.เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2490

ส่วนคนไทยจะเริ่มหันมาเล่นน้ำสงกรานต์กันจริงๆจังๆเมื่อไหร่นั้นผมก็ไม่แน่ใจนัก แต่สันนิษฐานกันว่าน่าจะเริ่มในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว โดยกลุ่มคนไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องการเล่นน้ำสงกรานต์มากที่สุดก็คือชาวเมืองเชียงใหม่ เพราะคนเชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มการนำโอ่งและถังน้ำขึ้นบนกระบะรถบรรทุกเล็กหรือที่เรียกว่า “รถคอกหมู”  และรถกระบะเพื่อใส่น้ำมาสาดเล่นกันก่อนเป็นพวกแรกๆเหมือนกับทางฝั่งพม่า ซึ่งเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นการทีชาวเชียงใหม่ได้รับอิทธิพลการเล่นน้ำสงกรานต์มาจากชาวพม่า และชนเผ่าไทกลุ่มต่างๆที่เข้ามาอาศัยหรือทำมาหากินอยู่ในนครเชียงใหม่ก็เป็นได้ และด้วยธรรมเนียมการเล่นน้ำนี้จึงได้เริ่มแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศนับแต่ช่วง พ.ศ.2500s จนทำให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยกลายมาเป็นเทศกาลเล่นน้ำประจำปีกันอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีชื่อเสียงในการจัดงานสงกรานต์มากที่สุดของประเทศอีกด้วย และด้วยชื่อเสียงของธรรมเนียมการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ของชาวพม่าและไทยนี้เองก็เริ่มกลายมาเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านที่นับถือพุทธศาสนาไปตามกันด้วย เพราะในหมู่ชนเผ่าไททางเหนือในแถบสิบสองปันนาเรื่อยลงมาจนถึงชาวลาวในแถบลุ่มน้ำโขงก็เริ่มหันมาเล่นน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของตนเองด้วยเช่นกัน

ภาพถ่ายการฉลองพิธีเทศกาลน้ำหรือบุญอูมตกที่หน้าพระราชวังในกรุงพนมเปญในปี ค.ศ. 1914 หรือ พ.ศ. 2457

ในขณะที่ทางฝ่ายเขมรหรือกัมพูชานั้น นอกจากจะไม่ปรากฏหลักฐานใดๆว่ามีประเพณีการเล่นน้ำเป็นของตัวเองแต่อย่างใดดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น ไอ้ประเพณีหรือ ‘เทศกาลน้ำ’ ของเขาจริงๆกลับมิใช่เทศกาลสงกรานต์ด้วยซ้ำ แต่เป็น “เทศกาลบุญอมตูก” (ពិធី​បុណ្យ​អុំ​ទូក) ในช่วงเดือนสิบสองหรือเดือนพฤศจิกายน อันเป็นช่วงหน้าน้ำหลากของทางเขมร เพราะเป็นห้วงเวลาที่ตนเลสาบหรือทะเลสาบใหญ่ในกัมพูชาจะมีระดับน้ำที่สูงขึ้น อันมีเหตุมาจากน้ำในแม่น้ำโขงได้ไหลลงมาบรรจบในตนเลสาบนี่เอง ชาวกัมพูชาจึงได้จัดการเฉลิมฉลองในเทศกาลนี้ด้วยการแข่งเรือครั้งใหญ่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองในช่วงฤดูน้ำหลากแล้ว แต่ยังมีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือกองทัพจามปาที่เคยเข้ามายึดครองอาณาจักรพระนครในอดีตอีกด้วย จนทำให้เทศกาลบุญอมตูกนี้ถือเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวกัมพูชาในทุกวันนี้เลยทีเดียว ซึ่งผมก็นึกแปลกใจว่าในเมื่องชาวกัมพูชาก็มีเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่แสดงถึงรากเหง้าและประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของตนอยู่แบบนี้แล้ว ทำไมรัฐบาลกัมพูชากลับไม่ผลักดันให้เทศกาลบุญอมตูกนี้กลายมาเป็นเทศกาลท่องเที่ยวและมรดกโลกของตนเอง แต่กลับเลือกที่จะมาแข่งขันกับไทยด้วยการสมอ้างประเพณีสงกรานต์แทน เพราะในรายชื่อเทศกาลสงกรานต์ที่รัฐบาลกัมพูชากำลังพยายามจะเสนอต่อยูเนสโก้นั้น เขาไม่ได้ใช้คำว่า  ‘Water festival’ แต่กลับไปใช้คำว่าสงกรานต์ที่เป็นคำไทยตรงๆ ซึ่งคงเพราะด้วยเกรงว่าจะไปซ้อนทับกับเทศกาลบุญอมตูกหรือเทศกาลน้ำของตนในช่วงเดือนพฤศจิกายนก็เป็นได้ล่ะครับ…

สงสัยน่าจะเป็นอีหรอบเดียวกับเรื่องมวยไทยกับโบกะตอร์ตรงที่เห็นว่าสงกรานต์ไทยมันดัง ก็เลยอยากจะเคลมเอาซะเลยนั่นล่ะครับ

ภาพจิตรกรรมการเล่นน้ำของชาวพม่าจากศตวรรษที่ 19

เพราะฉะนั้น สรุปง่ายๆคือพม่าเป็นผู้ที่ริเริ่มการเล่นน้ำในวันสงกรานต์ก่อน และจากนั้นก็แพร่หลายไปในหมู่ชนเผ่าไทกลุ่มต่างๆ ส่วนพี่ไทยก็ (น่าจะ) เล่นตามในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่้สองสิ้นสุดลง ในขณะที่ชาวกัมพูชาหรือเขมรนั้นกลับไม่มีธรรมเนียมแบบนี้แต่อย่างใด แต่เพิ่งจะหันมาเล่นตามบ้านเราและพยายามจะเคลมมาเป็นของตนเองเอาอีกแล้วนี่ล่ะครับ…

เหนื่อยใจจริงๆสิเอา…ภาสพันธ์ ปานสีดา ผู้เรียบเรียง