เปิดตำนาน 7 นางสงกรานต์ผู้เลอโฉม ปีนี้คิว “กิมิทาเทวี”น้ำท่าพลาหารอุดมดี

ทำไมวันสงกรานต์จึงต้องมีนางสงกรานต์ และการเล่นน้ำในวันสงกรานต์นั้นมาจากไหน?..

หลังจากที่วันปีใหม่สากลและปีใหม่จีนได้ผ่านพ้นแล้ว ก็มาถึงคราววันปีใหม่ของไทยหรือ “วันสงกรานต์” อย่างเป็นทางการเสียทีนะครับ โดยเรื่องราวของจุดเริ่มต้นของความเชื่อเรื่องวันสงกรานต์ในฐานะวันปีใหม่ของไทยนั้น ผมก็ได้เคยเขียนเล่าถึงไปแล้วพอสังเขปในบทความ “สวัสดีปีใหม่..จากอดีตสู่ปัจจุบัน” (https://siambusinessnews.com/35242?fbclid=IwAR3OkolIP2i860LMs4aV7wKSP7EaqYmIELN-VUnv8LT210JMeeo9_w8HdYo) แต่ในวันนี้ผมจะขอมาเล่าถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์ที่หลายท่านอาจจะสงสัยหรือไม่เคยรู้มาก่อน โดยผมขอเริ่มที่เรื่องราวของ “นางสงกรานต์” เหล่าเทพธิดาหรือนางฟ้าทั้งเจ็ดพระองค์ที่ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่าพวกนางเป็นใคร แล้วทำไมต้องถูกนำมากล่าวถึงในระดับที่ภาครัฐจะต้องนำออกมาประกาศอย่างเป็นทางการทุกปีด้วย?

Advertisement

สำหรับตำนานความเป็นมานางสงกรานต์ ปรากฏอยู่ในวรรณคดีที่มีชื่อว่า “มหาสงกรานต์” ซึ่งเป็นนิทานประเภทร้อยแก้วที่ไม่ปรากฏนามของผู้แต่งและยุคสมัยที่แน่ชัด แต่เมื่อครั้งที่มีการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้นำเรื่องมหาสงกรานต์มาจารึกไว้บนแผ่นศิลาจำนวน 7 แผ่นเพื่อประดับศาลาล้อมพระมณฑปทางทิศเหนือ ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั้นเอง โดยเรื่องราวของนางสงกรานต์มีอยู่ว่า พวกนางล้วนแต่เป็นธิดาหรือลูกสาวของ “ท้าวกบิลพรหม” หรือ “ท้าวมหาพรหม” ผู้เป็นเทวดาที่สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 3 โดยท้าวมหาพรหมภูมิมีหน้าที่สอดส่องดูแลมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่แล้วเมื่อท้าวกบิลพรหมได้ทราบถึงกิตติศัพท์ของ “ธรรมบาลกุมาร” เด็กน้อยผู้ซึ่งบรรลุในวิชาไตรเภทอันลึกล้ำได้ด้วยวัยเพียง 7 ขวบเท่านั้น ท้าวกบิลพรหมจึงได้ท้าทายประลองปัญญากับธรรมบาลกุมารน้อยด้วยปริศนาธรรมว่า

“เวลาเช้า เวลาเที่ยง และเวลาค่ำ มนุษย์นั้นมีราศีอยู่ที่ใดบ้าง”

เหล่านักแสดงหญิงที่มารับบทเป็นนางสงกรานต์ในปีที่ผ่านๆมา – ภาพจากสำนักพิมพ์ข่าวสด

พร้อมกับตั้งเงื่อนไขว่าตนจะให้โอกาสธรรมบาลกุมารไปค้นหาคำตอบมาให้ได้ใน 7 วัน และถ้าหากธรรมบาลกุมารน้อยสามารถแก้ปริศนานี้ได้ ตนก็จะยอมตัดเศียรของตนบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าไม่ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดหัวของธรรมบาลกุมารน้อยเช่นกัน ซึ่งการท้าทายนี้สร้างความหวาดกลัวให้กับกุมารน้อยผู้นี้เป็นอย่างมาก แต่ไม่ว่าธรรมบาลกุมารจะพยายามคิดใคร่ครวญหาคำตอบอย่างไรก็ไม่อาจจะหาคำตอบได้ จนกระทั่งในวันที่ 6 นั้นเองที่ธรรมบาลกุมารไปได้ยินนกอินทรีสองผัวเมียกำลังพูดคุยถึงคำถามของท้าวกบิลพรหมอยู่พอดิบพอดีโดยมีคำตอบว่า

“ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า”

ครั้นเมื่อธรรมบาลกุมารได้มีชัยเหนือท้าวกบิลพรหมแล้ว พระองค์จึงจำยอมที่จะตัดเศียรของตนเพื่อรักษาสัตย์วาจานั้น โดยทรงตรัสเรียกพระธิดาทั้งเจ็ดมีปรากฏนามว่าทุงษะเทวี , โคราคะเทวี , รากษสเทวี , มณฑาเทวี , กิริณีเทวี , กิมิทาเทวี และมโหธรเทวีตามลำดับ และทรงกำชับสั่งเสียว่าเมื่อตนได้บั่นเศียรของตนแล้ว ขอให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โตจงนำพานมารับไว้ในทันที เพราะถ้าเศียรของตนตกลงไปยังโลกแล้ว ไฟก็จะไหม้แผ่นดินโลกจนพินาศสิ้น แต่ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้งจนเป็นภาวะอากาศอันกันดาร หรือถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้งเหือดสิ้น และเมื่อทรงสั่งเสียเสร็จสิ้นแล้ว ท้าวกบิลพรหมก็ทรงบั่นเศียรของตน โดยที่มีนางทุงษะนำพานมารองรับไว้แล้วก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ผู้เป็นบิดาเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลีในเขาไกรลาศ และจากนั้นในทุกๆปีเหล่าธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 องค์ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ โดยจะเริ่มจากนางทุงษะเทวี ผู้เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ และในปีถัดมาก็จะเป็นหน้าที่ของโคราคะเทวี ผู้เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร เรียงแบบนี้เรื่อยไปจนครบทั้ง 7 นางหรือ 7 ปี ซึ่งเป็นการแสดงถึงการเคลื่อนของมหาวันสงกรานต์ในแต่ละปีที่จะขยับเปลี่ยนไปทุกปีนั่นเองล่ะครับ และเนื่องจากในช่วงมหาสงกรานต์ในปีนี้มาบรรจบยังวันศุกร์ที่ 14 เมษายน

โดยฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังได้คำนวณเวลาแห่งการเข้าสู่วันมหาสงกรานต์ประจำปีนี้อยู่ที่เวลาแรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที จึงทำให้นางสงกรานต์ปีนี้ก็คือกิมิทาเทวี ผู้ทรงมีลักษณะที่ได้ถูกพรรณาไว้ว่า….

ภาพนางกิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำปีนี้ – ภาพจากสำนักข่าว PPTV36

“ผู้ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (กระบือ – ผู้เขียน)”

และเนื่องจากการมาถึงของเหล่านางสงกรานต์นั้นก็จะมาพร้อมกับวาระของแผ่นดินที่จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีด้วยเช่นกัน และสำหรับวาระของแผ่นดินตามการมาถึงของนางกิมิทาเทวีนั้นก็ได้รับการทำนายว่า

“เกณฑ์พิรุณศาสตร์ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า

“เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคให้น้ำ 2 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์

เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี”

สรุปอย่างง่ายๆก็คือ ปีนี้น้ำท่าและพลาหารทั้งหลายจะอุดมดีในระดับหนึ่งครับ ซึ่งผมก็ภาวนาขอให้เป็นอย่างนั้น เพราะประชาชนก็ทนทุกข์กับภาวะเศรษฐกิจและโดยเฉพาะปัญหาข้าวยากหมากแพงกันมาร่วมปีแล้ว หวังว่าภายในปีนี้จะมีอะไรดีๆขึ้นบ้างล่ะนะ…

เรียบเรียงโดย..ภาสพันธ์ ปานสีดา