“24,700 หมู่บ้านทั่วไทย” มีเน็ตใช้แน่  สดช. ต่อยอดสู่ไทยแลนด์ 4.0

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เดินหน้ายุทธศาสตร์ สู่เป้าหมาย ไทยแลนด์ 4.0  บูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ต่อยอดอินเทอร์เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ  

Advertisement

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สดช.) เปิดเผยว่า สดช. เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ให้ดำเนินการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมี 4 พันธกิจหลักคือ 1. กำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 2. ส่งเสริมการบูรณาการทุกภาคส่วน 3. วางรากฐานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ 4. ส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

​              สดช. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลของประเทศในหลายๆ มิติ ตามภารกิจหลัก ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการวางแผน กำหนดนโยบาย และดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมี โครงการดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้

​             ต่อยอดโครงการอินเทอร์เน็ตประชารัฐ ซึ่งเป็นการวางรากฐานทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะมีการติดตั้งอินเตอร์เน็ตจำนวน 24,700 หมู่บ้านครอบคลุมทั่วประเทศในปีนี้             เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม และกระจายความเจริญให้กับประชาชนไทย นอกจากนี้ ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐด้วยราคาที่เป็นธรรม

โดยสดช.ยังได้ดำเนินงาน “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” ซึ่งเป็นโครงการหลักที่ใช้ประโยชน์ต่อยอดจาก อินเทอร์เน็ตประชารัฐ โดยปัจจุบัน “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” ได้ดำเนินการติดตั้งแล้ว จำนวน 2,280 ศูนย์ ทั่วประเทศ ซึ่ง สดช. มุ่งหวังให้ “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” เป็นพื้นที่ศูนย์กลางชุมชน แหล่งรวมความรู้และการให้บริการภาครัฐ ภายในศูนย์ประกอบไปด้วย การฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านช่องทางเว็บไซต์ https://www.thaimooc.org ซึ่งเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน เปิดพื้นที่สำหรับให้ประชาชนใช้ทำงาน เรียนรู้ และจัดกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกัน ได้เริ่มต้นโครงการหมู่บ้านชุมชนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Village e-commerce) ภายใต้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยมีเป้าหมาย 300 แห่งภายในปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมแนวทางการพัฒนา ดิจิทัลเพื่อสุขภาพนำร่องเชื่อมข้อมูล 116 รพ.ซึ่งเป็นอีกโครงการที่สดช.มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน คือ โครงการดิจิทัลเพื่อสุขภาพ  (Digital for Health) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Tele-Medicine) ดำเนินการในโรงพยาบาล 10 คู่ กระจาย 4 ภาค ภายในปี 2561 ซึ่งมีโครงการนำร่องครอบคลุมโรงพยาบาล 116 แห่ง วางโครงสร้างพื้นฐานระบบโครงข่าย GIN ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 116 แห่ง โดยสดช.จะเข้าไปขับเคลื่อนเชื่อมโยงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ให้สามารถต่อเชื่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการด้านสุขภาพ ซึ่งได้แก่โรงพยาบาลในชุมชนที่ห่างไกล และโรงพยาบาลระดับศูนย์ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงในการให้บริการระบบแพทย์ทางไกล

 

โดยสามารถใช้ Smart ID บัตรประชาชนใบเดียว รับบริการได้ทุกโรงพยาบาล ไม่ต้องกรอกประวัติใหม่ เป็นอีกหนึ่งบริการที่จะอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ป่วยและโรงพยาบาลในการรักษา โดยใช้ฐานข้อมูลสุขภาพในบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 4 แห่ง คือ รพ.ขอนแก่น รพ.ชลบุรี รพ.พัทลุง และรพ.ลำปาง และมีเป้าหมายจะดึงรพ.ระดับศูนย์การแพทย์เข้าร่วมโครงการอีก 33 แห่ง และรพ.ทั่วไปอีก 83 แห่ง รวมเป็น 116 แห่ง

ซึ่งโครงการดิจิทัลเพื่อสุขภาพนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2560 เรื่องการดำเนินการเพิ่มคุณภาพการบริการด้านสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการทางการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร หรือพื้นที่ห่างไกล และยากลำบากในการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ ดิจิทัลเพื่อการเกษตรช่วยเพิ่มผลผลิตซึ่งเป็นอีกโครงการที่มีความสำคัญ คือโครงการดิจิทัลเพื่อการเกษตร ซึ่งสดช.กำลังพิจารณา เพื่อเตรียมดำเนินการในการนำเอาประโยชน์ทางด้านดิจิทัล มาช่วยพัฒนาทางด้านการเกษตร โดยในอนาคต สดช.  มีแนวทางยกระดับภาคการเกษตรของประเทศ ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการคาดการณ์สภาพอากาศ และความเหมาะสมในการเพาะปลูกในสภาพอากาศนั้นๆ รายงานผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพผ่านการเซ็นเซอร์แปลงเพาะปลูก การใช้ QR Code ในการนำผลผลิตออกสู่ตลาด หรือเข้าสู่วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

โดยสดช.มุ่งหวังว่าการยกระดับภาคการเกษตรของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จะก่อเกิดประโยชน์ต่อการวางแผนและการคาดการณ์ของเกษตรกร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น และลดรายจ่าย รวมถึง เป็นการสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรด้วย

และ สุดท้ายคือ โครงการยกระดับความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) สดช.ได้ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาหลักสูตร 4 ระดับ ประกอบด้วย 1. Basic Literacy ปลุกความสนใจและการตระหนักใช้ 2. Intermediate Literacy สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนศึกษาต่อด้านคอมพิวเตอร์                  3. Competent มีพื้นฐานสมรรถนะที่จำเป็น และ 4. Professional Literacy ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล

​                “สดช.เป็นหน่วยงานผู้มีหน้าที่นำแนวนโยบาย ของกระทรวงดิจิทัลฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาดำเนินการในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งทุกโครงการที่กล่าวมาล้วนเป็นประโยชน์ จะช่วยพัฒนาประเทศ อำนวยความสะดวก พัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับทั้งสังคมและเศรษฐกิจประเทศสู่เป้าหมาย ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้ในที่สุด” นางวรรณพร กล่าวทิ้งท้าย