จำไหวมั้ย?เด็กๆ รมว.ศึกษาฯ “ตรีนุช”หวังปั้นเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นคนเก่ง ดี มีความรู้ และทักษะ คิดวิเคราะห์ รักการเรียนรู้ มีสำนึกการเป็นพลเมืองดี กล้าหาญทางจริยธรรม สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ สุขภาพกายแข็งแรง จิตใจดี โดยมีเป้าหมาย พัฒนาศักยภาพเด็กไทย ด้วยหลัก 4 H ทั้ง Head Hand Heart Health ขณะที่รมช.สธ.ก็แรงไม่แพ้กันวางงานให้เด็กไทยด้วยชุดทักษะการเรียนรู้ 6 ด้าน
ที่โรงเรียนโพธิสารพิทยากร ตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน (Kick off) โครงการหนึ่งโรงเรียน หนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ครู และนักเรียน ร่วมงาน
นส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กไทยอย่างรอบด้าน ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้มีการบูรณาการงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สู่เป้าหมายหลัก “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” และมีนโยบายข้อตกลงความร่วมมือ 12 กระทรวง โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ให้เป็นคนเก่ง ดี มีความรู้ และทักษะ คิดวิเคราะห์ รักการเรียนรู้ มีสำนึกการเป็นพลเมืองดี กล้าหาญทางจริยธรรม สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพตามโครงการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านสาธารณสุข สุขภาพกายแข็งแรง จิตใจดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาศักยภาพเด็กไทย ด้วยหลัก 4 H ประกอบด้วย Head Hand Heart และ Health กอปรกับปัญหาสุขภาพเด็กนักเรียนไทย พบว่า เด็กไทยในบางพื้นที่มีระดับสติปัญญา (Intelligent Quotient : IQ) และมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient : EQ) ที่ควรได้รับการพัฒนา รวมทั้งปัญหาด้านโภชนาการในเด็ก ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเด็กไทยมีภาวะเครียด ซึมเศร้าในกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำโครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ เพื่อให้เด็กไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนมุ่งสร้างเสริมศักยภาพครูไทยยุคใหม่ ผู้เป็นบุคคลสำคัญในการจุดประกายความคิด อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ เพื่อให้เด็กและเยาวชน เก่ง ดี มีคุณภาพ คุณธรรม มีจิตสาธารณะ และรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งมีความพร้อมต่อการดำเนินชีวิตในโลกยุควิถีใหม่ นำไปสู่การเป็นประชากรที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศ
“ทั้งนี้ กำหนดให้มีแผนขับเคลื่อนโครงการระยะ 5 ปี (2566-2570) ในปี 2566 มีเป้าหมายให้เด็กไทยในระดับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป จำนวน 1 ล้านคน ผ่านการสร้างความรอบรู้จากครูอนามัยโรงเรียน เพื่อให้มีทักษะเบื้องต้นในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) รู้เท่าทันจิตใจตนเองและผู้อื่น จัดการความเครียด สร้างความสุขด้วยตนเอง รู้โทษทัณฑ์พิษภัย ห่างไกลสารเสพติด มีทักษะตรวจเต้านมด้วยตนเอง และอยู่ในสถานศึกษาปลอดภัยรอบด้าน เอื้อต่อการเรียนรู้ ตามหลักสูตรครูอนามัยสร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ
ด้วยชุดทักษะการเรียนรู้ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) ทักษะชีวิต ด้วยการดูแลสุขภาพใจด้วย School Health HERO ประเมิน 9S Plus แอปโดนบูลลี่ มาหา Buddy ป้องกันภาวะซึมเศร้า ป้องกันภัยจากบุหรี่และสารเสพติด 2) ทักษะสังคม ป้องกันตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รักปลอดภัย คุมกำเนิดปลอดภัย ป้องกัน HIV AIDS ป้องกันฝุ่น PM 2.5 อ่านฉลาก ฉลาดเลือก
ใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย 3) ทักษะสุขภาพ สร้างเด็กไทยเติบโต สมวัย ตรวจสุขภาพด้วยตนเอง ฝึกกู้ชีพขั้นพื้นฐาน ช่วยเหลือผู้อื่นจากการจมน้ำ ไฟฟ้าซ็อต และอุบัติเหตุ สุขภาพดีด้วยหลัก 10 อ. 4) ทักษะการจัดการสิ่งแวดล้อม รอบรู้อาหารและน้ำปลอดภัย คัดแยกขยะ และดูแลรักษาส้วมให้สะอาด 5) ทักษะรู้เท่าทันเทคโนโลยี ฟังหู ไว้หู ถามให้รู้
หาข้อมูลให้ชัด ก่อนตัดสินใจ เช็คก่อนแชร์ ด้วย สาสุขชัวร์ และ 6) ทักษะการจัดการงานอนามัยโรงเรียน บทบาทครูอนามัย ระบบงานอนามัยโรงเรียน ห้องพยาบาล และการปฐมพยาบาล” ดร.สาธิต กล่าว
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตุ และตั้งคำถามถึงการจัดงานงานดังกล่าวว่า มีข้าราชการเจ้าหน้าที่ นายกฯ และรัฐมนตรีเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่มีเด็กเข้าร่วมจำนวนหนึ่งเท่านั้น และเรื่องที่มีการกล่าวโดยผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว และซ้ำๆ วนไปวนมา จนกลายเป็นงานที่เป็นงานผู้ใหญ่มากกว่างานสำหรับเด็กจริงหรือไม่? และเหมาะสมสำหรับการจัดงานเพื่อเด็กๆ และให้ประโยชน์กับเด็กๆ ได้มากน้อยเพียงใด?