นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก นำ กงสุลกิติมศักดิ์สาธารณรัฐกานา เข้าพบเพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือการพัฒนาการปลูกข้าวรักษ์โลก BCG โมเดล ในประเทศกานา
ที่กรมการข้าว “ดร.ภณ ทัพพินท์กร” นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว นำ “ดร.สิชา สิงห์สมบุญ” กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐกานา เข้าพบนายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือพัฒนาการปลูกข้าวรักษ์โลก BCG โมเดล ตามแนวทาง BCG ในประเทศกานา ซึ่งจะเป็นความร่วมมือทางด้านการเกษตรระหว่างประเทศไทยและประเทศกานา
โดยกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐกานา กล่าวถึงการเข้าหารือในครั้งนี้ว่า “ทางรัฐบาลและนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนเรื่องของข้าวในประเทศกานามีความสนใจในแนวทางในแนวทางพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำการเกษตรแบบ BCG โดยเฉพาะข้าวรักษ์โลกที่ช่วยในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี และยังเป็นแนวทางใหม่ของการทำการเกษตรโลก โดยทางประเทศกานาจะนำเอาประเทศไทยเป็นต้นแบบในการปลูกข้าว และการพัฒนาในด้านการเกษตร จึงเป็นที่มาของการเข้าหารือและขอความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกันในครั้งนี้
โดยจะมีคณะสำรวจจากประเทศไทยเดินทางไปยังประเทศกานาเพื่อศึกษาแนวทางการสร้างความร่วมมือพัฒนาการปลูกข้าว เข้าสำรวจ และหาข้อมูลในเบื้องต้น ราว 30 คนก่อนที่จะนำข้อมูลมาสรุปและสร้างเป็นแผนการให้ความช่วยเหลือกับการปลูกข้าวและพัฒนาการเกษตรในประเทศกานาต่อไป” ดร.สิชา กล่าว
ด้านนายณัฏฐกิตติ์ อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า “ทางกรมการข้าวยินดีสนับสนุนด้านต่างๆ ในเรื่องของการผลิตข้าวซึ่งทางกรมมีบุคลากรและมีความรู้ความชำนาญในเรื่องของการผลิตข้าวเป็นอย่างดี เมื่อทางประเทศไทยได้รับการประสานงานจากทางประเทศกานาทางกรมการข้าวก็พร้อมที่จะสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อให้ทางประเทศกานาได้เกิดองค์ความรู้นำเอาไปต่อยอดการผลิตข้าวภายในประเทศอย่างเหมาะสมตามวัฒนธรรมและประเพณีของกานา ซึ่งจะช่วยให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
โดยทางกรมการข้าวจะได้ส่งทีมงานจากสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก และยังเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเกษตรแนวทาง BCG โมเดล เดินทางไปยังประเทศกานา เพื่อนำข้อมูลในด้านต่างๆ ของประเทศกานามาสรุปและประเมินผล ซึ่งในวันนี้ก็จะได้มีการบันทึกส่งไปยัง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ได้รับทราบว่าได้มีการหารือในเบื้องต้นแล้ว
และรอให้คณะสำรวจเดินทางกลับมา จึงจะทำหนังสือเรียนนำเสนอไปอีกครั้ง และรอหนังสืออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลกานาเพื่อสร้างเป็นบันทึกความเข้าใจร่วมกัน
ทั้งนี้กรมการข้าวเองก็มีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิต ที่สมบูรณ์และครบวงจร แต่การถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ต้องให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศเพื่อนำเอาไปปรับใช้ตามความเหมาะสม” อธิบดีกรมการข้าว กล่าว
ด้าน “ดร.ภณ” นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก และที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าว หนึ่งในทีมงานที่จะเดินทางไปยังประเทศกานาช่วงปลายเดือนธ.ค.นี้กล่าวว่า “เบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลในด้านต่างๆ ของประเทศกานามาแล้วในระดับหนึ่ง และมีทั้งหมด 16 จังหวัดที่จะปลูกข้าว ซึ่งได้มีการศึกษาสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมในประเทศกานาแล้ว โดยมีความใกล้เคียงกับประเทศไทยในระดับหนึ่ง ซึ่งภาพรวมในการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวคงไม่น่าจะมีปัญหา
ส่วนเรื่องที่จะเน้นในการเข้าไปศึกษาหาข้อมูลคือเรื่องของความพร้อมในด้านต่างๆ ของทางประเทศกานาเอง โดยเฉพาะด้านบุคลากรและองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงสภาพของดินและน้ำว่าจะมีความเหมาะสมกับพันธุ์ข้าวประเภทต่างๆ อย่างไร และจำนำเอาข้อมูลทั้งหมดกลับมาเพื่อปรึกษากับทางกรมการข้าว เพื่อเตรียมแนวทางในการสร้างความร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมการปลูกข้าวในประเทศกานาต่อไป” ดร.ภณกล่าว