ย้อนตำนานเรือรบหลวง ธนบุรี ศรีอยุธยา สุโขทัย กับชื่ออดีตราชธานี ชะตากรรมนี้ที่บังเอิญใกล้เคียงกัน

เรือรบหลวงศรีอยุธยา

“สุโขทัย ศรีอยุธยา ธนบุรี” ว่าด้วยตำนานเรือรบหลวงชื่อราชธานีไทยเรื่องบังเอิญหรือเกินธรรมชาติกับชะตากรรมของเรือรบทั้งสามลำ

Advertisement

การอัปปางลงของเรือหลวงสุโขทัย ที่กำลังเป็นกระแสข่าวที่ได้รับความสนใจอยู่ในขณะนี้ นับเป็นการสูญเสียเรือรบที่ทรงอานุภาพลำหนึ่งของราชนาวี กองทัพเรือไทย ซึ่งนอกจากเรือหลวงสุโขทัยจะเป็นเรือที่ทรงอานุภาพลำหนึ่งของกองทัพเรือไทยแล้ว ชื่อของเรือ “สุโขทัย” ยังถูกตั้งด้วยชื่อของอดีตราชธานีของไทย “กรุงสุโขทัย” รวมถึงยังเป็น “ตำนานเรือรบสามมิติ” กับความเป็น “เรือคอร์เวต” ที่มีภารกิจหลักในการ ป้องกันภัยทางอากาศ สงครามผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ

แต่ก็ใช่ว่าเรือหลวงสุโขทัยจะเป็นลำเดียวที่มีชื่อเป็นอดีตเมืองหลวง หรืออดีตราชธานีของไทย ในอดีตที่ผ่านมายังมีเรือที่ใช้ชื่อราชธานีของไทย ทั้งเรือรบหลวงธนบุรี เรือรบหลวงศรีอยุธยา และอาจเป็นเรื่องบังเอิญที่เรือซึ่งถูกตั้งชื่อเป็นราชธานีของไทย จะประสบชะตากรรมไม่ต่างจากเรือหลวงสุโขทัยในครั้งนี้

          “ทั้งสามลำมีทั้งเสียหายหนักและอัปปางจมลง เพียงแต่แตกต่างกันคนละสาเหตุคนละเหตุการณ์”

SBN ย้อนประวัติเรื่องราวในอดีตที่เป็นตำนานของเรือรบหลวงอันยิ่งใหญ่ทั้งสามลำ กับเรื่องราวที่อาจเรียกได้ว่าเป็นความ “บังเอิญ” และเป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ จากประวัติศาสตร์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

เริ่มต้นในวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาไม่นานนี้ กับการจมลงของเรือหลวงสุโขทัย (ลำที่2) ด้วยสาเหตุคลื่นทะเลแรงซัดน้ำเข้าเรือ ก่อนที่เรือจะเอียงและอัปปางในที่สุด ขณะทำการลาดตระเวนในทะเลอ่าวไทย ประมาณ 20 ไมล์ทะเล จากบริเวณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยเรือหลวงสุโขทัย เริ่มเข้าประจำการครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2530 และอัปปางลงในปี พ.ศ.2565 รวมเวลาประจำการ 35 ปี

เรือหลวงสุโขทัย

และเมื่อย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 2494 เรือรบหลวงศรีอยุธยาเป็นเรือรบหลวงอีกลำที่มีชื่อเรือพ้องกับอดีตราชธานีของไทย “ศรีอยุธยา” ก็ประสบเหตุอัปปาง ลงในแม่น้ำเจ้าพระยา ตำแหน่งบริเวณสะพานพระพุทธฯ (หน้าวัดกัลยาณมิตรฯต่อเนื่องป้อมวิไชยประสิทธิ์) จากเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน ด้วยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินเอที 6 ของกองทัพอากาศไทย (หาข้อมูลต่อเรื่องจากเรื่องกบฏแมนฮัตตัน) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2494 ซึ่งเรือรบหลวงศรีอยุธยา เข้าประจำการเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2481 รวมเวลาประจำการ 13 ปี

เรือรบหลวงศรีอยุธยา

จากเรือหลวงสุโขทัย และเรือรบหลวงศรีอยุธยา มาถึงเรือรบหลวงธนบุรี อีกหนึ่งในเรือรบที่ตั้งชื่อตามอดีตราชธานีของไทยอย่าง “กรุงธนบุรี” ที่เกยตื้นบริเวณแหลมงอบ จ.ตราด จากการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมภาคภูมิด้วยการปะทะกับกองเรือของฝรั่งเศส และถูกกระสุนปืนจากเรือลามอตปิเกต์ ยิงใส่จนเสียหายอย่างหนัก ในกรณีพิพาทระหว่างไทย – อินโดจีนฝรั่งเศส  เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 แต่แม้จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก เรือรบหลวงธนบุรีก็ได้สร้างความเสียหายให้กับเรือลามอตปิเกต์ของฝรั่งเศสอย่างหนักเช่นเดียวกัน จนสามารถขับไล่กองเรือฝรั่งเศสออกไปจากอ่าวไทยได้สำเร็จ

เรือรบหลวงธนบุรี

เรือรบหลวงธนบุรีที่ได้รับความเสียหายหนัก ถูกเรือหลวงช้างจึงลากจูงให้มาเกยตื้นในเย็นวันเดียวกันที่แหลมงอบ  ก่อนจะปลดระวางประจำการ (จากการเป็นเรือรบ) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2484 ต่อมาและใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนปลดระวางประจำการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2502 โดยทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ภายในโรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ โดยเรือรบหลวงธนบุรีได้เข้าประจำการใน วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2481  และปลดประจำการ (จากการเป็นเรือรบ) ในปี พ.ศ.2484 รวมเวลาประจำการราว 3 ปี

และทั้งหมดนี้ คือตำนานแห่งเรือรบหลวงของราชนาวีไทย ที่ใช้ชื่ออดีตราชธานี หรือเมืองหลวงหรือเมืองหลวงของไทยเป็นชื่อเรือ ทั้งสามลำ ซึ่งอาจเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ จากเกร็ดทางประวัติศาสตร์ ที่แต่ละลำประสบกับความสูญเสียก่อนเวลาอันควร ส่วนใครจะเชื่อให้เป็นเรื่องของอาถรรพ์ หรือ เรื่องอื่นใด ก็คงต้องปล่อยเป็นไปตามวิจารณญาณส่วนตัวของแต่ละบุคคล ในที่นี้ว่ากันถึงความเป็น “เกร็ดประวัติศาสตร์” ในเชิงวิชาการกับการรวบรวมเหตุการณ์ที่น่าสนใจจากอดีตมาเพื่อเรียนรู้เท่านั้น

 

ภาพจาก th.wikipedia.org และจาก ทวีตเตอร์