สสส.ร่วมกับ WHY NOT Social Enterprise จัดงาน”อร่อย RICE บ้าน” โชว์ความสามารถคนไร้บ้าน หนุนให้โอกาสสร้างอาชีพ “เบเกอรี–อาหาร–ช่างซ่อม” หลังสำรวจพบ 70% งานไม่มั่นคง 40% รับจ้างทั่วไป ขณะที่หจก.คนไร้บ้าน มุ่งสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านอย่างยั่งยืน พร้อมกลับสู่สังคม
ที่ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ WHY NOT Social Enterprise ร่วมกับเครือข่ายคนไร้บ้าน จัดงาน “อร่อย RICE บ้าน” เพื่อแสดงให้เห็นว่า คนไร้บ้านมีความสามารถไม่ต่างจากคนทั่วไป พร้อมปรับทัศนคติของคนเมืองที่มีต่อคนไร้บ้านว่าพวกเขาก็มีความสามารถและต้องการอาชีพเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมีการแข่งขันทำอาหารระหว่าง “เชฟเต็งหนึ่ง” คณิศ ปิยะปภากรกูล” กับ “พี่นาง คนไร้บ้าน” และยังมีการออกร้าน นำอาหารนานาชนิด เช่น ส้มตำ ลาบหมู ขนมปัง ฯลฯ มาให้ผู้ที่เข้าร่วมงานชิมกันอย่างสนุกสนาน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า คนไร้บ้าน เป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในภาวะยากจน ไร้ที่พึ่ง และประสบกับความไม่แน่นอนในการใช้ชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากคนไร้บ้านมากกว่าร้อยละ 90 ของทั้งหมด อาศัยหลับนอนและใช้ชีวิตอยู่บนพื้นที่สาธารณะซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงทางสังคมและสุขภาพ รวมถึงสร้างความตึงเครียดให้กับการใช้ชีวิต ในทางเดียวกัน ข้อมูลจากการสำรวจคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร
โดย สสส. และสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า คนไร้บ้านมากกว่าร้อยละ 70 ประกอบอาชีพที่มีความไม่แน่นอนทางรายได้และหลักประกันในการใช้ชีวิต ประมาณร้อยละ 40 มีรายได้จากการทำงานรับจ้างทั่วไป ซึ่งมีลักษณะของการเป็นแรงงานนอกระบบ รองลงมา ประมาณร้อยละ 20 รายงานว่ามีแหล่งรายได้หลักจากการหาของเก่า และร้อยละ 12 พบว่ามีแหล่งรายได้จากการค้าขาย ทั้งนี้คนไร้บ้านเกินกว่าครึ่งเป็นประชากรที่มีต้นทุนด้านการประกอบอาชีพ แต่เงื่อนไขของการใช้ชีวิตของพวกเขาไม่เอื้ออำนวยให้แปรต้นทุนด้านอาชีพดังกล่าวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและมีความมั่นคงที่เพิ่มมากขึ้น หรือพัฒนาศักยภาพทางอาชีพตามความถนัดและต้นทุนเดิม
“สสส. เห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพของคนไร้บ้าน เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สามารถพึ่งพิงตนเองได้ จึงจัดให้มีการฝึกทักษะด้านอาชีพ เช่น ช่างซ่อม เบเกอรี่และอาหาร การทำเกษตรฯลฯ นอกจากนั้นมีการพัฒนาเครือข่ายเพื่อหนุนเสริมด้านอาชีพ โดยการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการเข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุนการพัฒนากลุ่มคนไร้บ้าน โดยร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้ง หจก.คนไร้บ้าน ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของคนไร้บ้านที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพ และทักษะด้านต่างๆ และพร้อมที่จะกลับสู่สังคม การจัดงานในครั้งนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนไร้บ้านมีความสามารถเพียงแต่ขาดโอกาสเท่านั้นการประกอบอาชีพและพัฒนาเสริมทักษะด้านอาชีพของคนไร้บ้าน ยังมีส่วนสนับสนุนและฟื้นฟูด้านกายภาพและสุขภาวะทางจิตของคนไร้บ้านด้วยเช่นกัน” นางภรณี กล่าว