สวัสดีปีใหม่..จากอดีตสู่ปัจจุบัน

สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่าน..

แน่นอนว่าการทักมายของผมในคราวนี้อาจจะทำให้ผู้อ่านสงสัยว่า ผมจำวันผิดหรือเพี้ยนไปหรือเปล่าที่มาทักทายวันปีใหม่ในช่วงต้นเดือนธันวาคมแบบนี้ เพราะวันปีใหม่ในปฏิทินสากลอยู่ในวันที่ 1 ม.ค. แต่ถ้าปีใหม่ไทยที่ยึดถือในตอนนี้ก็ช่วงวันสงกรานต์ในเดือนเมษายนโน่นมิใช่หรือ?

Advertisement

มันก็ใช่ครับ แต่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงจะไม่รู้หรือลืมไปแล้วว่า ตามธรรมเนียมไทยแต่เดิมนั้นจะฉลองวันปีใหม่กันในเดือนธันวาคมมาก่อนครับ ถ้าไม่เชื่อก็ลองสังเกตการนับเดือนแบบไทยเดิมสิครับ เราจะเห็นว่าเขานับ “เดือนอ้าย” หรือเดือนแรกของปีคือเดือนธันวาคมนะครับ ไม่ใช่เดือนมกราคมตามปฏิทินสากลแต่อย่างใด

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ไอ้เรื่องของเรื่องก็คือว่า การนับปีใหม่ไทยแบบดั้งเดิมนั้นจะอ้างอิงตามคติพระพุทธศาสนา ด้วยถือว่าการเข้าสู่ฤดูหนาวคือช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ เพราะเป็นการสิ้นสุดของฤดูฝนที่ถือเป็นห้วงเวลาที่ท้องฟ้ามีแต่ความขมุกขมัวแล้วกลับสว่างสดใสอีกครั้งนั่นเอง แต่ก็มิใช่ว่าลมหนาวกรายมาถึงแล้วจะนับว่าเป็นช่วงปีใหม่ได้เลยนะครับ โดยการคำนวณวันเวลาในอดีตแต่เดิมนั้นจะใช้ระบบปฏิทินจันทรคติ ซึ่งเป็นปฏิทินที่คำนวณจากการโคจรของดวงจันทร์หรือที่เรียกว่า “ข้างขึ้นข้างแรม” (The Moon’s Phases) เป็นหลัก ด้วยการถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ อันเป็นห้วงเวลาที่ดวงจันทร์จะปรากฏเป็นจันทร์เสี้ยวในเดือนอ้ายหรือเดือนธันวาคมเป็นวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง แต่การเปลี่ยนมานับเดือนห้าหรือเดือนเมษายนเป็นปีใหม่ตั้งแต่เมื่อไหร่นั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดนัก นักวิชาการบางท่านว่าได้รับคติมาจากพราหมณ์ซึ่งใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นห้วงเวลาที่ราศีเมษโคจรเข้า เพราะในคติโหราศาสตร์ของอารยธรรมตะวันกต่างถือว่าราศีเมษคือราศีแรกในหมู่สิบสองราศี (Zodiac) นั่นเอง และด้วยการจัดระบบปีใหม่นี้จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของ “ประเพณีวันตรุษ” ด้วยเช่นกัน

วงโคจรของดวงจันทร์ และการสังเกตเวลาข้างขึ้นข้างแรม – เครดิต -https://www.facebook.com/AksornACT/posts/2087387681347237/

สำหรับคำว่าตรุษนี้ หลายท่านอาจจะพอคุ้นเคยกับคำๆนี้อยู่บ้างแล้ว ดังปรากฏจาก “ประเพณีวันตรุษจีน” ซึ่งถือเป็นช่วงวันปีใหม่ตามประเพณีจีน หรือแม้แต่วันสงกรานต์เองก็ยังมีการเรียกว่าเป็น “วันตรุษสงกรานต์” ด้วยเช่นกัน โดยคำว่าตรุษนี้เป็นภาษาสันสกฤตนี้แปลว่า “ตัด” หรือ “การสิ้นไป” วันตรุษจึงมีความหมายว่าเป็นวันแห่งการสิ้นสุดปีเก่าไปด้วยนั่นเอง แต่ถึงจะมีการบัญญัติวันปีใหม่ขึ้นมาใหม่เช่นนี้ก็ตาม แต่คนไทยในยุคโบราณก็ยังคงฉลองวันตรุษไทยควบคู่ไปกับวันสงกรานต์เรื่อยมา เพราะปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีการจัดระบบประเพณีต่างๆอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎมณเฑียรบาลที่เรียกว่า “พระราชพิธีสิบสองเดือน” อันเป็นตำราพระราชพิธีที่ราชสำนักจะต้องกระทำในทุกๆเดือนของปีก็ไม่ได้มีการกําหนดเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่แล้ว แต่กำหนดให้เดือน 4 มี “พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์” คือพิธีสิ้นปี หมายถึงตรุษ และเมื่อเข้าสู่เดือน 5 ก็จะมีการ “พระราชพิธีเผด็จศกลดแจตร” (ไม่ทราบความหมายที่แท้จริง) ซึ่งถือเป็นช่วงขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการ และทางราชสำนักจะมีการจัดพระราชพิธีออกสนามใหญ่ อันหมายถึงการละเล่นและการเฉลิมฉลองใหญ่ที่ท้องสนามหลวงนั่นเอง จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้มีการประกาศให้วันปีใหม่ของไทยกลายมาเป็นวันที่ 1 เมษายนแทน เพราะด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะทรงพิจารณาเห็นความลําบากในการใช้วันเดือนปีแบบจันทรคตินี้อยู่เหมือนกัน เพราะในการประกาศช่วงวันตรุษและปีใหม่ในแต่ละปีนั้นจะต้องมาจากการคำนวณของพราหมณ์หลวงเป็นสำคัญ พระองค์จึงได้ทรงพระราชดําริหาทางแก้ไขให้เป็นวันที่ 1 เมษายนในปี ร.ศ. 108 หรือปี พ.ศ. 2432 ในที่สุดครับ

ชาวบ้านมารวมตัวทำบุญใหญ่ในวันตรุษไทย – Wikipedia

ในเมื่อพูดถึงวันปีใหม่ไทยที่เคยนับในวันที่ 1 เมษายนแล้ว ท่านผู้อ่านบางท่านก็อาจนึกคิกคักชอบใจ ด้วยไพล่ไปคิดถึง “วันเมษาหน้าโง่” (April Fool’s day) ที่นับกันในวันที่ 1 เมษายนเหมือนกัน แต่มันก็ช่างเป็นเรื่องน่าแปลกที่วันเมษาหน้าโง่นี้กลับมีความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับวันปีใหม่ในโลกตะวันตกด้วยเหมือนกันครับ เพราะชาวยุโรปเคยนับวันที่ 25 มีนาคม – 1 เมษายนเป็นวันปีใหม่มาก่อนจริงๆครับ ด้วยถือว่าเป็นการสิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลินั่นเอง แต่ “พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13” (Pope Gregory XIII) พระองค์ทรงบัญชาให้มีการชำระ “ปฏิทินจูเลียน” (Julian Calenกar) ซึ่งถือเป็นปฏิทินแบบสุริยคติที่ยุโรปใช้มาอย่างยาวนานด้วยการคำนวณวันและเวลาใหม่อีกครั้ง และได้ทรงประกาศให้มีการใช้ปฏิทินใหม่ที่ทรงคำนวณขึ้นคือ “ปฏิทินเกรกกอเรียน” (Gregorian Calendar) ในปี ค.ศ. 1582 และยังทรงประกาศให้วันปีใหม่ที่ถูกต้องเป็นวันที่ 1 มกราคม แทนที่จะเป็นวันที่ 25 มีนาคม – 1 เมษายนอย่างที่เคยเป็นมาอย่างเป็นทางการในที่สุดนั่นล่ะครับ และเมื่อศาสนจักรมีการประกาศใช้ปฏิทินใหม่นี้แล้ว เหล่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามหัวเมืองอันห่างไกลกลับไม่เชื่อว่านี่คือคำประกาศของศาสนจักรจริงๆ พวกเขาก็เลยปฏิเสธที่จะยอมรับวันปีใหม่แบบใหม่ และยังคงเฉลิมฉลองในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงต้นเดือนเมษายนต่อไป จนทำให้พวกชาวเมืองที่พบเห็นการฉลองของชาวบ้านก็พากันหัวเราะเย้ยหยันว่าเป็นวันประเพณีของพวกคนโง่ไปโดยปริยายนั่นล่ะครับ

เอาล่ะ วกกลับมาที่ทางฝั่งไทยกันอีกรอบครับ แต่ดูเหมือนความนิยมในการนับถือวันปีใหม่เมื่อวันที่ 1 เมษายนนี้ดูเหมือนจะเป็นที่รับรู้ในแวดวงข้าราชการและราชสำนักเสียมากกว่า เพราะคนไทยต่างหันไปนับวันปีใหม่กันในช่วงวันสงกรานต์กันหมดแล้ว และเมื่อมีการปฏิวัติโดยคณะราษฎร์ในปี พ.ศ. 2475 แล้ว คณะรัฐบาลจึงได้มีความพยายามในการฟื้นฟูวันปีใหม่ไทยในวันที่ 1 เมษายนกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ยังคงไม่เป็นที่สู้นิยมหรือเป็นที่ยอมรับมากนักเช่นเคย ด้วยเหตุผลว่าคนไทยโดยมากไปคุ้นชินกับวันสงกรานต์มานานแล้ว จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 8 จึงได้มีการประกาศให้มีการยอมรับวันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ตามแบบปฏิทินสากล โดยมีประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2483 มีใจความว่า

“โดยจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณมา ได้ถือแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งใช้ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นต่อมา ภายหลังเมื่อทางราชการนิยมใช้สุริยคติ จึงถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นต้นปี แต่ประเทศทั้งหลายนิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปี ซึ่งเป็นการคํานวณโดยดาราศาสตร์และนิยมใช้กันมาเป็นเวลากว่าสองพันปี จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีอย่างประเทศทั้งหลาย

การใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ นอกจากจะได้ระดับกับนานาอารยประเทศแล้ว ยังจะเป็นการสอดคล้องตามแบบจารีตประเพณีโบราณ ของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปีอีกด้วย

บรรยากาศในยามเช้าของฤดูหนาว

อนึ่งได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปีประดิทิน พุทธศักราช 2483 ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 17 ธันวาคม 2483 แล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์ และอาณาประชาราษฎร์ทั้งมวล นิยมถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และให้ถือเป็นจารีตประเพณีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นต้นไป”

เพราะเหตุนี้ คนไทยเราจึงได้ฉลองวันปีใหม่ตามแบบสากลกันในวันที่ 1 มกราคมมาอย่างยาวนานกว่า 81 ปีแล้ว และเนื่องในช่วงเดือนธันวาคมนี้ที่มีจะวันหยุดอีกเยอะด้วยเช่นนี้แล้ว ผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านที่จะเดินทางไปไหนมาไหนในช่วงเดือนนี้โปรดระมัดระวังให้มาก เพื่อที่ท่านจะได้ไปถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพนะครับ