4 องค์กรจับมือปฏิวัติการทำนาผลิตข้าวปราณีตBCGโมเดล ลดต้นทุนเพิ่มคุณภาพตามดีมานด์ตลาด

ปฏิวัติการทำนาพัฒนาข้าวไทยยั่งยืน 4 สมาคมจับมือ สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลกฯ -สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ร่วมผลิตข้าวปราณีตใน BCG โมเดล สมาคมโรงสีพร้อมรับซื้อ ส่งเสริมโดยกองทุนหมู่บ้าน -กรมการข้าว เน้นย้ำข้าวคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ ปลอดสารพิษ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม อวดโฉมแล้วในเอเปค 2022 พร้อมก้าวไกลไปตลาดโลก 

Advertisement

ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน  ระหว่างสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลกสมาคมศูนย์ข้าวชุมชน (ประเทศไทย) สมาคมโรงสีข้าวไทย และสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ณ ห้องประชุมจักรพันธุ์ อาคารกรมการข้าว ซึ่งเป็นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรวมถึงโรงสีที่ต้องรับซื้อผลผลิตโดยตรง

โดยทางสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก เป็นผู้พัฒนาส่งเสริมชาวนาและเกษตรกรผ่านโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model โดยที่ผ่านมาเป็นโครงการนำร่องระยะที่ 1 ที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณลงมาเพื่อดำเนินการในกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ปัจจุบันโครงการใกล้แล้วเสร็จ และกำลังจะเริ่มโครงการนำร่องระยะที่ 2  อีก 60 กองทุนหมู่บ้าน ในเดือนธันวาคม 2565 นี้ อีกทั้งสำนักงานเลขานุการสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือถึงกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำการยกระดับโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model จึงเป็นที่มาของ ความร่วมมือในการปฏิวัติ การทำนาสู่ความยั่งยืน

สำหรับสัญญาความร่วมมือฉบับนี้จัดทำเพื่อแสดงถึงความร่วมมือของ 4 สมาคมฯ ที่ต้องการเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรชาวนาไทยให้ทำการปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน ตามแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นความร่วมมือของสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน (ประเทศไทย) สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสมาคมโรงสีข้าวไทยและได้รับการสนับสนุนส่งเสริมโดยกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

ในการปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นการทำนาแบบประณีต เลิกใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ทำให้ได้ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ  เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้การตลาดนำการเพาะปลูก ภาคีโรงสีเข้ามารับซื้อข้าวในราคาที่เหมาะสม ตามแนวทาง BCG Model  ที่ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนในการเพาะปลูก มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน

 

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ ของความร่วมมือ MOU ในครั้งนี้ สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก เป็นผู้อบรมให้ความรู้ ดูแลโครงการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ติดตามความก้าวหน้าของโครงการ วัดผลและจัดทำรายงานเสนอหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน(ประเทศไทย) เป็นผู้ดูแลส่งเสริมเมล็ดพันธ์ข้าวให้กับโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model

และเป็นผู้ประสานงานศูนย์ข้าวชุมชนในการส่งเสริมโครงการข้าวรักษ์โลกในระดับตำบลและอำเภอ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เป็นผู้ดูแลส่งเสริมประชาสัมพันธ์โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model ให้ชาวนาและเกษตรกรเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลของโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model  สมาคมโรงสีข้าวไทย เป็นผู้กำหนดตลาดชนิดของข้าว ที่ต้องการในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ศูนย์ข้าวชุมชน นำไปจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวส่งเสริมโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model และเป็นผู้กลับมารับซื้อข้าวหลังการเก็บเกี่ยวในราคาที่ดีและเหมาะสมตามคุณภาพของข้าว

ด้านนายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้กับ SBN ว่า “โครงการความร่วมมือในการปฏิวัติการทำนาสู่ความยั่งยืน  และการผลิตข้าวปราณีตแบบ BCG Model ทางสมาคมโรงสีเป็นการพัฒนาการผลิตข้าวทั้งวงจร ซึ่งแต่เดิมการปลูกข้าวแต่ละพื้นที่มีหลากหลายพันธุ์ หลากหลายรูปแบบซึ่งไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของตลาดผู้รับซื้อและผู้บริโภค ซึ่งการผลิตข้าวแบบปราณีตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 4 สมาคม ในการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการรับซื้อที่ตรงกับความต้องการของตลาด และมีผลให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนจำหน่ายข้าวได้ราคามากขึ้น  และทางโรงสีได้รับข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้นตรงกับความต้องกาของผู้บริโภคซึ่งถือเป็นการพัฒนาทั้งวงจรอย่างยั่งยืน”

ขณะที่ดร.ภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก กล่าวว่า “ในโครงการข้าวรักษ์โลก BCG โมเดลมีการจัดโครงการในลักษณะของการส่งเสริมแบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ภายใต้ BCG โมเดลของรัฐบาล โดยการส่งเสริมจะเริ่มต้นตั้งแต่การทำโซนนิ่งซึ่งจะมีการหารือกับทางโรงสีในพื้นที่ว่าต้องการข้าวพันธุ์อะไร และทางสมาคมฯจะนำมาประเมินร่วมกับกรมการข้าวเพื่อทำการส่งเสริมให้ตรงกับความต้องการของโรงสี เป็นการใช้ตลาดนำการผลิต และนำมาส่งเสริมเกษตรกรให้ทำนาแบบปราณีต ซึ่งเป็นแนวทางดั้งเดิมจากอดีตและเหมาะกับวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทย ไม่มีการใช้สารเคมี เปลี่ยนมาเป็นการใช้จุลินทรีย์ชีวมวลชีวภาพในการผลิต ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และเมื่อผลผลิตออกมาในกระบวนการสุดท้ายก็จะกลายเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกระบวนการการผลิตทั้งหมดยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งตอบโจทย์มาตรฐาน SRP หรือข้าวยั่งยืน และโรงสีก็กลับมารับซื้อในราคาที่เหมาะสม

ดร.ภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก

ปัจจุบันมีการส่งเสริม BCG โมเดลระยะที่ 1 ไปเรียบร้อย ผลผลิตก็คือข้าวรักษ์โลกที่คัดเกรดและบรรจุภัณฑ์ในแบบพรีเมียม ข้าวรักษ์โลก นำไปอวดโฉมในเวที APEC 2022 ซึ่งเป็นการสื่อสารกับตลาดเวทีสากล และเป็นช่องทางในการส่งเสริมข้าวคุณภาพปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ผลิตในประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ตลาดโลกในอนาคต”