เจาะความคิดกับเซเลบชื่อดังของเมืองไทยนักธุรกิจพันล้าน อย่างคู่รักของวิศวกรหนุ่ม คุณรุต วิศรุต กริ่มทุ่งทอง เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร และ แพทย์หญิงวลีรัตน์ ทวีบรรจงสิน หรือหมอกวาง เจ้าของวลีรัตน์คลินิก (Waleerat Clinic) กับไอเดียโคตรล้ำเลี้ยงลูกให้เป็นประชากรโลก ไม่ใช่แค่เป็นคนไทย อนาคตเด็กไทยจะไม่ใช้ใบปริญญาเบิกทางแต่จะให้ประสบการณ์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้กับโลกใบนี้
กำลังจะได้รับรางวัลครอบครัวดีเด่นในยุคดิจิทัลในงาน Thailand Digital Awards 2022
คุณรุต – ต้องขอขอบคุณทางคณะกรรมการจัดงาน รางวัล Thailand Digital Awards 2022 ที่เสนอรายชื่อเราเข้าชิง สาขาครอบครัวดีเด่น ทางครอบครัวของเรารู้สึกดีใจมาก ที่หลายคนเล็งเห็นอะไรหลายๆอย่างที่ทางเราได้สร้างสรรค์สู่สังคม ทุกกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เราสนับสนุนหมดโดยเฉพาะกิจกรรมส่งเสริมซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) ให้กับประเทศไทย
คิดว่าความเป็นครอบครัวหรือสถาบันครอบครัวในยุคดิจิทัล เป็นอย่างไรบ้าง?
คุณรุต – “ควรมีการเปิดเผยเรื่องราวครอบครัวบนโซเชียลมีเดียควบคู่กับการใช้ชีวิต เพื่อสร้างสถาบันครอบครัวที่แข็งแรง ยุคสมัยนี้โซเชียลเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราไปแล้ว สื่อดิจิตัลเหมือนเหรียญสองด้าน ช่วยให้คนรู้จักกันง่ายโดยไม่ต้องเจอหน้ากันจริงๆ แค่ทักหรือแอดบัญชีกันก็สามารถเป็นเพื่อนกันได้ ซึ่งสำหรับคนที่มีครอบครัวแล้วหากใช้สื่อโซเชียลไปในทางที่ผิดมันก็จะเกิดปัญหา และอีกมุมหนึ่งโซเชียลก็สามารถสร้างครอบครัวให้มั่นคงได้ถ้ารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์”
หมอกวาง- “สำหรับกวางมองว่าการใช้ชีวิตคู่ในยุคดิจิทัลหรือโซเชียล มันต้องสร้างความไว้วางใจกันให้กันทั้งคู่ หากคุณใช้ในทางที่ผิดมันก็จะเกิดโทษ แต่ถ้าใช้ในทางที่ถูกต้องมันก็จะสร้างประโยชน์ให้กับครอบครัว”
ทั้งคู่เคยมีหวั่นไหวบ้างไหมกว่าจะครองคู่มาถึง 10 ปี?
คุณรุต- “ด้วยหน้าที่การงาน สังคมแวดล้อม การรู้จักผู้คนใหม่ๆ มันก็มีหวั่นไหวบ้างเป็นของธรรมดา เพราะเราก็เป็นผู้ชายทั่วไป แต่สุดท้ายเราก็ต้องนึกถึงคนที่อยู่ข้างๆ เราก่อนเช่นภรรยาของเรา สุดท้ายคนที่ดีที่สุดก็คือภรรยาของเรา ผมไม่อยากทำให้ภรรยาของเราเสียใจ กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ก็ 10 ปีแล้ว เรารู้แล้วว่าใครควรจะอยู่ข้างเรามากที่สุด”
หมอกวาง- “ช่วง 3 ปีแรกที่เราคบกัน บอกเลยว่าทะเลาะกันบ่อยมาก เคยเลิกกันถึง 3 ครั้ง แต่สุดท้ายเราก็ต้องรีบคืนดีกันให้เร็วที่สุด เพราะเราต่างรู้ใจกันว่า ถ้าเรายังรักกันเราต้องปรับตัวเข้าหากัน และเรารู้ว่าต่างคนต่างก็เติมเต็มในส่วนที่เราขาดหายไปได้ดีที่สุด”
คุณรุต – “ตอนเลิกกันบอกเลยว่าทุรนทุรายมาก มาคิดได้ทีหลังว่าไม่น่าเป็นแบบนี้เลย ไม่น่าทะเลาะกันเลย ด้วยความที่ผมเป็นคนใจร้อนมากบางทีคิดอะไรหุนหันพลันแล่นคิดเร็วตัดสินใจเร็ว และหมอกวางเป็นคนใจเย็นมาก แต่ก็ยังมีทะเลาะกันนะ โชคดีที่เราทั้งคู่ไม่ว่าจะทะเลาะอะไรกัน สุดท้ายเราก็จะมีเหตุผลและรับฟังซึ่งกันและกัน”
หมอกวาง – “อาจเป็นเพราะว่าเราทั้งคู่ เริ่มทำธุรกิจและลงทุนมาตั้งแต่มหาวิทยาลัย จึงมีความมั่นใจในตัวเองสูงกันมาก ต่างคนก็ต่างมีความคิดเป็นของตัวเองมาก อาจเรียกว่าต่างคนต่างเก่ง มันจึงมีการทะเลาะกันบ่อยในช่วงแรกๆแต่พอหลังจากแต่งงานมีลูก เราทั้งคู่ก็มีความคิดที่เปลี่ยนไป ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างเราก็จะไปโฟกัสที่ลูก”
การเป็นคุณพ่อคุณแม่ในยุคดิจิทัล โซเชียลแรงมีความยากง่ายยังไงกับการเลี้ยงดูลูก?
คุณรุต – “ตอนนี้ลูกผมยังเล็กอยู่เลยนะ ลูกสาวคนโต น้องวาเลนน์ กริ่มทุ่งทอง อายุขวบกว่าๆ ลูกชายคนเล็ก น้องเวลา กริ่มทุ่งทอง อายุ 4 เดือน การเลี้ยงดูเหมือนครอบครัวอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมทำคือผมไม่ให้ลูกผมดูทีวีเลย ไม่ให้เล่นโทรศัพท์มือถือ เน้นให้ลูกอยู่กับธรรมชาติมากที่สุด ให้เล่ หรือจับต้องในสิ่งของที่จับต้องได้
พยายามสอนให้ลูกรู้จักการเลือกสิ่งที่เขาต้องการเอง บางทีสิ่งที่เราเลือกให้เขาเช่นของเล่น ซื้อให้เล่นราคาแพงๆ แต่สุดท้ายเขาไม่เล่น เขาเลือกที่จะเล่นโคลน ทราย เหมือนเด็กทั่วไปมากกว่า เราก็ต้องปล่อยให้เขาเล่นและเราก็ต้องเล่นกับเขาด้วยนะ ปล่อยให้เขาเล่นในสิ่งที่เขาเลือกเอง”
หมอกวาง – “การที่เราพยายามให้เขาได้ซึมซับกับธรรมชาติก่อน เพราะเราอยากให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องกลัวหรอกว่าเขาจะไม่ได้ดูทีวีหรือถือไอแพดไปโรงเรียน พอเขาถึงเวลาไปโรงเรียน เขาจะได้พบเจออะไรอีกมากมาย เราจึงพยายามสอนเขาให้เรียนรู้และรู้จักกับธรรมชาติ ให้รู้จักกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก่อนว่าเป็นอย่างไร เราพยายามจะสอนให้ลูกได้ใช้ความคิดให้มากที่สุด เพราะในอนาคตมันจะเป็นประโยชน์กับเขาเอง”
เลี้ยงลูกให้เป็นประชากรโลกไม่ใช่แค่เป็นคนไทยเพียงอย่างเดียว?
คุณรุต – “ในอนาคตโลกเราจะมีการเดินทางที่ง่ายขึ้นเชื่อมโยงกันทั่วโลก โลกจะแคบลงสื่อสารเข้าถึงกันง่าย อนาคตมันจะไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เราทุกคนจะเป็นประชากรของโลกใบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เป็นคนไทยเพียง คนจีน อังกฤษ หรืออเมริกา แต่ทุกคนจะคือประชากรโลก มีความเสมอภาคเท่าเทียม มีการติดต่อสื่อสารไปมาหาสู่กันง่าย โลกคือบ้านของเรา มันจะไม่มีการแบ่งแยกว่าใครคือคนประเทศอะไร เพราะเราทุกคนคือประชากรโลก จะเห็นได้ว่าคนไทยย้ายไปอยู่ต่างประเทศก็เยอะ คนต่างชาติมาอยู่บ้านเราก็เยอะ มันจะมีการย้ายถิ่นฐานที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น ผมจึงจะสอนลูกให้โตขึ้นมาเพื่อเป็นประชากรโลก สอนให้รู้จักคิด หรือเลือก เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้กับโลกในอนาคต ถ้าใครปรับเปลี่ยนตัวเองได้เร็วที่สุดก็จะประสบความสำเร็จกับเศรษฐกิจในโลกใบนี้”
หมอกวาง – “อนาคตใครที่มีความเป็นครีเอทีฟ จะเป็นกำลังสำคัญกับการเป็นประชากรโลกมาก อาชีพที่สำคัญคือการสร้างสรรค์ คือการใช้สมองคิดให้มากขึ้น เพราะหุ่นยนต์มันไม่มีสมองคิดเอง มีแต่คนสร้างโปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำในสิ่งที่คนต้องการ การใช้แรงงานคนจะน้อยลงเพราะจะใช้หุ่นยนต์ทำแทน แต่สิ่งที่หุ่นยนต์ทำแทนคนไม่ได้คือความคิดสร้างสรรค์ คิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา นี่แหละคือสิ่งที่เราหารือ พ่อแม่ในยุคดิจิทัลต้องเริ่มศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปสอนลูกของตัวเอง”
ขั้นตอนการเตรียมตัวของลูก ก้าวสู่การเป็นประชากรโลก?
คุณรุต – “เริ่มจากการหาโรงเรียนดีๆให้กับลูก ครอบครัวเลือกให้ลูกของเรา ทั้งสองคน วาเลน และเวลา เรียนโรงเรียนนานาชาติ ให้สามารถใช้ได้อย่างน้อย 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน หรือภาษาอื่นๆ ความจริงการศึกษามันเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้จากประสบการณ์การใช้ชีวิตกับผู้คนที่มีความหลากหลาย ทั้งด้าชาติและภาษา เพื่อพัฒนาความคิด แนวคิด ที่ไม่มีในบทเรียนนะ ทุกอย่างต้องศึกษาด้วยตนเอง การเรียนมันเป็นเพียงทฤษฎี ซึ่งเวลาที่นำมาปฏิบัติจริงมันอาจแตกต่างเลยด้วยซ้ำ ในอนาคตใบปริญญาอาจไม่มีความสำคัญอะไรเลย แต่จะเป็นทักษะสำคัญกว่า มันสมองไอเดียจะเป็นสิ่งที่ต้องการระดับโลก”
หมอกวาง –“การศึกษามันก็ยังมีความสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุดมันคือความเชี่ยวชาญ การมีความคิดอะไรใหม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ แน่นอนมันต้องมีการเรียนรู้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่ในบทเรียนหรือในชั้นเรียน แต่การศึกษาที่สำคัญคือการศึกษาจากประสบการณ์ ความรู้รอบตัว ซึ่งมันสามารถหาความรู้ได้จากโซเชียล ทุกคนมีความเท่าเทียมในการแสวงหาความรู้ ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม ศิลปะ หรือนวัตกรรมต่างๆทั่วโลก มันไม่เกี่ยวว่าเด็กจะอยู่ในฐานะครอบครัวร่ำรวยหรือยากจน แต่หากเด็กเข้าถึงโซเชียล เด็กก็จะแสวงหาความรู้ได้ ซึ่งเราเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องอยู่เคียงข้างลูก หรือสนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากทำให้เป็นประโยชน์”
โซเชียลกับเด็ก มีทั้งคุณและโทษ?
คุณรุต –“เราเป็นพ่อ ถ้าเราเห็นลูกติดเกม ผมก็จะไปเล่นกับเขาด้วย เราจะได้รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เขาพูดอะไร คุยอะไรกับใคร ผมจะไม่ห้ามนะครับ พร้อมสนับสนุนถ้าเขาจะเล่นเกมแล้วก้าวไกลไปสู่ระดับโลก อย่างเกาหลีใต้ รัฐบาลเขาสนับสนุนให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์เลยนะ เขามีการแข่งขันเป็นจริงเป็นจัง เด็กประเทศเขาเล่นเกมเพื่อการแข่งขัน ผู้ใหญ่สนับสนุนมันจึงไม่เกิดปัญหา แต่สำหรับบ้านเราไม่ได้มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง จะมองเป็นเรื่องไร้สาระ ทั้งที่จริง เด็กที่ติดเกมเล่นเกมบางคนสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่าเราซะอีก ถ้าประเทศเราสนับสนุนเหมือนเกาหลีก็คงจะดี จะได้สร้างซอฟท์พาวเวอร์ สร้างงาน สร้างการท่องเที่ยวได้เหมือนกัน”
หมอกวาง – “มันก็มีทั้งคุณและโทษนะ ถ้าลูกติดเกมแล้วนำไปสู่กิจกรรมก้าวหน้า เช่นแข่งขันระดับโลกสร้างรายได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าติดเกมหนักไปเหมือนที่เป็นข่าว ก้าวร้าว ไม่สนใจการเรียน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเป็นหน้าที่ของพ่อและแม่ ที่ต้องเข้าไปดูแลพูดคุย พยายามหากิจกรรมทำร่วมกับเขา เพื่อเอาเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้างเพื่อเขาจะได้ไม่หมกมุ่นจนเกินไป”
หากลูกโตมาเป็น LGBTQ ?
คุณรุต –” เฉยๆนะ เขาจะเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นคนดี สร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับโลกหรือสังคม ผมพยายามเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับทุกคนได้ ผมก็ต้องยอมรับได้ว่าลูกผมจะโตขึ้นมาเป็น LGBTQ พร้อมสนับสนุนไปให้สุดด้วยซ้ำ อย่างลูกชายของผม ผมก็เอาชุดเก่าของลูกสาวคนโตน้องวาเลนมาให้ใส่ มีคนมาถามผมว่าอ้าวทำไมให้ลูกชายน้องเวลาใส่ชุดสีชมพู ซึ่งผมก็ไม่สน เพราะถือว่านี่คือชุดของพี่ซึ่งสามารถตกทอดมาถึงน้องใส่ได้ไม่เห็นเป็นอะไร การที่เขาโตขึ้นมาแล้วจะเป็นอะไร มันไม่ได้เกี่ยวกับเสื้อผ้า มันอยู่ที่เด็กว่าเขาจะโตขึ้นมาเป็นเพศไหน ซึ่งเขาจะเป็นคนเลือกเอง ไม่ใช่พ่อแม่เลือกให้ พ่อแม่ไม่ใช่เจ้าของชีวิตลูกนะ เราเป็นเพียงผู้ให้กำเนิด ส่วนลูกเขาเป็นเจ้าของชีวิตเขาเอง เขาเลือกเองว่าโตขึ้นมาเขาจะเป็นอะไร ประกอบอาชีพอะไร”
หมอกวาง –” ความคิดเห็นก็เหมือนคุณรุตค่ะ แล้วแต่ว่าเขาจะเลือกเป็นอะไรหรือเพศไหน เราเคยคุยกันเล่นๆว่าถ้าลูกเราโต ขึ้นมาเป็น LGBTQ เราจะสนับสนุนให้ลูกไปให้สุด จะทำศัลยกรรมให้ทุกอย่างที่เขาอยากทำ”
IG คุณรุต : ruth_witsarut
IG คุณหมอกวาง : gwangwaleerat