“มะม่วงมหาชนก” หน้าตาเป็นไง ทำไม? “ลุงตู่” ปลื้มสุดๆ เทพปานนี้ต้องไปรู้จัก

ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะผู้วิจัย "มะม่วงมหาชนก"

นายกฯ สั่งต่อยอด “มะม่วงมหาชนก” หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด หลัง สกว.โดยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก จับมือมหาวิทยาลัยนเรศวร โชว์ผลงานวิจัย การเพิ่มสารแอนโทไซยานินและแคโรทีนอยด์ กลายเป็น “มะม่วงต้านมะเร็ง”

Advertisement

ถึงกับที่  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกปากชื่นชม พร้อมสนับสนุนให้นำเอาไปต่อยอดส่งออกในประเทศและ ในต่างประเทศให้เป็นที่แพร่หลาย สำหรับ “มะม่วงมหาชนก” มะม่วงไทยชื่อมงคลที่ดังเป็นพลุแตก หลังกลายเป็น “มะม่วงอร่อยแล้วยังต้านโรคมะเร็งได้ด้วย” ฝีมือนักวิจัยไทย จาก ม.นเรศวร

“มะม่วงมหาชนก” รูปร่างหน้าตาเป็นยังไง ไปดูกันเลย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร นำบรรยายการศึกษาสารต้านอนุมูลอสิระในมะม่วงมหาชนกเพื่อนำไปใช้ในการวิจัยและพัฒนา และนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และนายรัฐพล เมืองเอก นักศึกษา คปก. คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งมีโจทย์วิจัยจากผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มาจากธรรมชาติ มีประโยชน์ต่อสุขภาพและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ในปัจจุบัน จึงทำให้มีการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของพืชชนิดต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ในผักและผลไม้จะพบสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แคโรทีนอยด์ ซึ่งไม่แสดงสีให้เห็น เนื่องจากถูกสีเขียวของคลอโรฟิลล์บดบังไว้ แต่เมื่อผักและผลไม้แก่ตัว คลอโรฟิลล์จะสลายตัวไป สารสีแคโรทีนอยด์จึงปรากฏสีให้เห็น เช่น เหลือง ส้ม แดง

นี่แหละหน้าตาเต็มๆ ของ”มะม่วงมหาชนก”

ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ระบุว่าแคโรทีนอยด์แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมี คือ แคโรทีน และเบต้าแคโรทีน ซึ่งในปัจจุบันพบว่าแคโรทีนอยด์มีประโยชน์ทางด้านช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ช่วยในการรวมตัวเองเข้ากับเยื่อบุเซลล์เหมือนกับวิตามินอี ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 40% อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต้อกระจกและโรคจอประสาทตาเสื่อม นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งคือ แอนโธไซยานิน ซึ่งเป็นรงควัตถุหรือสารที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน สารสกัดแอนโทไซยานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และเส้นเลือดอุดตันในสมอง ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร

“มะม่วงมหาชนก” เมื่อเทียบกับ “มะม่วงน้ำดอกไม้”

มะม่วงมหาชนกเป็นมะม่วงพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมกันระหว่างพันธุ์ซันเซทของอเมริกา และพันธุ์หนังกลางวันของไทย มีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่ามะม่วงพันธุ์อื่น คือ เปลือกผลเมื่อแก่หรือสุกจะมีผิวสีแดงม่วงสวยงาม หรือเหลืองเข้มปนแดง ดังนั้นจึงมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดสีแดง และปริมาณแอนโธไซยานินในผลมะม่วงมหาชนก พบว่าการฉีดพ่นสารเมทิลจัสโมเนส ความเข้มข้น 80 ppm สามารถช่วยปรับปรุงคุณภาพ เช่น วิตามินซี ปริมาณน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส ซูโครส และพบการเพิ่มขึ้นของปริมาณแคโรทีนอยด์ เท่ากับ 1.43 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมน้ำหนักสด มากกว่าการไม่ฉีดพ่นสาร อีกทั้งการใช้สารเมทิลจัสโมเนส และเอทิฟอนมีผลในการเพิ่มระดับของแคโรทีนอยด์ระหว่างการสุกแก่มากกว่ามะม่วงที่ไม่ใช้สาร 50% โดยพบมากที่สุดในช่วงวันที่ 5-6 ของการเก็บรักษา (ระยะพร้อมรับประทาน) อีกทั้งการประยุกต์ใช้สารเมทิลจัสโมเนส และเอทิฟอน ยังสามารถควบคุมกระบวนการสุกและปรับปรุงคุณภาพทางโภชนาการของผลมะม่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสารดังกล่าวมีความปลอดภัยสูง ปราศจากสารตกค้าง

สารแคโรทีนอยด์ใน “มะม่วงมหาชนก” ที่ว่า “ต้านมะเรี็ง”

นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ศึกษาปัจจัยของแสงร่วมกับสารเมทิลจัสโมเนส พบว่าผลมะม่วงที่ได้รับแสงร่วมกับการฉีดพ่นสารละลายเมทิลจัสโมเนส ความเข้มข้น 80 ppm ที่อายุผล 90 วันหลังดอกบาน ทําให้เกิดพื้นที่สีแดงเพิ่มขึ้น 25% ของพื้นที่ผิวเปลือกผล และมีปริมาณแอนโทไซยานินเพิ่มขึ้นในมะม่วงพันธุ์มหาชนกเท่ากับ 1.31 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมน้ำหนักสด โดยแสงอาจมีผลต่อการส่งเสริมการสร้างแอนโทไซยานินในผลมะม่วง “งานวิจัยนี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วงมหาชนกให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ทั้งนี้ในฤดูกาลจะให้ผลผลิตในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และนอกฤดูในช่วงเดือนมิถุนายนถึงมีนาคม หากสามารถทำให้มะม่วงมหาชนกมีสีแดงสม่ำเสมอและสวยงาม จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น” นักวิจัยกล่าว

        “มะม่วงมหาชนก” กำลังจะกลายเป็นที่ถวิลหาของนักชิมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สายเฮลล์ตี้และสายฟรุตตี้พลาดไม่ได้เร็วๆ นี้เชื่อว่าจะมีออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ในฐานะ “มะม่วงต้านมะเร็ง” และ “มะม่วงพันธุ์ใหม่มาแรงทางเศรษฐกิจของไทย”