ถอยดีกว่า … มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเปิดทางถอยให้กระทรวงมหาดไทยถอนกฏหมายขายแผ่นดิน อ้างเพื่อนำไปรับฟังความคิดและวิเคราะห์ผลกระทบ และนำไปศึกษาเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบ ถี่ถ้วนและครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมไปถึงการฟังความคิดเห็นจากประชาชน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ (8 พฤศจิกายน 2565) อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยถอนร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของ คนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าว ที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์อย่างรอบด้านของผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง สู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ได้แก่ 1. กลุ่มประชาคมโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1 ไร่ ตาม ม.96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท โดยต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การได้มาซึ่งที่ดิน ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวโดยทั่วไป ยังคงเป็นไปตามกฎกระทรวง ฯ พ.ศ. 2545 ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ขอถอนร่างกฎกระทรวง เพื่อนำไปรับฟังความคิดและวิเคราะห์ผลกระทบ และนำไปศึกษาเพิ่มเติมให้มีความรอบคอบ ถี่ถ้วนและครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมไปถึงการฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อพิจารณาถึงผลดีผลเสียที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ร่างกฎกระทรวงเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป
อย่างไรก็ตามร่ากฏหมายฉบับดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์จารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อต่างๆ รวมถึงในโลกโซเชียล ก่อนหน้านี้ ที่กลายมาเป็นกระแสคัดค้าน และที่มาของ แฮชแท็ค #ขายชาติ #รัฐบาลขายชาติ รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง ซึ่งการถอนร่างกฏหมายฉบับนี้ จึงเป็นข้อสังเกตุว่าอาจ เกี่ยวกับความหวั่นวิตกถึงกระแสความไม่เห็นด้วยจะขยายวงกว้างไปกว่านี้ และเพื่อเป็นการลดกระแสการโจมตีรัฐบาล ด้วยหรือไม่?