จี้ภาครัฐให้ความรู้ปชช.ลดเสพหวานเพื่อสุขภาพ

 

Advertisement

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประเมินการจัดเก็บภาษีค่าความหวานมีผลบังคับใช้ 16 ก.ย. เชื่อส่งผลกระทบต่อภาพรวมปริมาณความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มากนัก ระบุภาครัฐควรเร่งให้ความรู้ด้านการบริโภคน้ำตาลที่พอดีต่อร่างกายควบคู่กับการออกกำลังกาย จะช่วยแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า     

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC

    นายสิริวุทธิ์  เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์และสันทนาการ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายจัดเก็บภาษีค่าความหวานของเครื่องดื่มตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 นี้ หากเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่เสียภาษีสรรพสามิต 20% จากมูลค่า โดยโครงสร้างการจัดเก็บค่าความหวานนั้น จะแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ค่าความหวาน 0-6 กรัมต่อ 100 มล.ไม่ต้องเสียภาษี ค่าความหวาน 6-8 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 10 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 8-10 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 30 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 10-14 กรัมต่อ 100 มล.เสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร ค่าความหวาน 14-18 กรัมต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร และค่าความหวาน 18 กรัมต่อ 100 มล.ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร โดยให้เวลาภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัวเป็นระยะเวลา 2 ปี ก่อนจะเริ่มเก็บจริงในวันที่ 1 ต.ค.2562

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ประเมินว่าจากการจัดเก็บภาษีค่าความหวานดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำตาลทรายในภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายมีความกังวลว่า การจัดเก็บภาษีค่าความหวานในกลุ่มเครื่องดื่มในครั้งนี้ อาจส่งผลต่อความเข้าใจในการบริโภคที่คลาดเคลื่อน โดยกังวลว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลทรายจะเป็นพิษต่อร่างกายและเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลทรายลดลง ซึ่งอาจทำให้การบริโภคอาหารไม่สมดุลกับความต้องการของร่างกาย เนื่องจากในแต่ละวันร่างกายก็มีความต้องการสารอาหารเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานที่ใช้ในดำเนินกิจกรรมในแต่ละวันเช่นกัน

ดังนั้น ในช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้เอกชนปรับตัว 2 ปี ก่อนดำเนินการจัดเก็บภาษีจริงนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งสื่อสารสร้างความเข้าใจในการบริโภคน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกายของแต่ละคน เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคได้ตัดสินใจในการเลือกบริโภคน้ำตาลที่เพียงพอต่อร่างกาย ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ออกกำลังกาย ซึ่งจะได้ผลที่ดีและสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของผู้บริโภคได้ดีกว่า ซึ่งล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการ ‘หวานพอดี ชีวีมีสุข’ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลทรายที่สมดุล และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการได้ในเร็วๆ นี้

“เรายืนยันในจุดยืนว่า น้ำตาลเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานซึ่งมีความจำเป็นต่อร่างกายหากบริโภคอย่างสมดุล ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐควรเพิ่มความเข้มข้นในการสื่อสารให้ความรู้ด้านการบริโภคน้ำตาล นับตั้งแต่ช่วงนี้จนถึงการจัดเก็บภาษีตามค่าความหวานในปี 2562 เพื่อให้ข้อมูลและความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค เพราะหากไม่เร่งดำเนินการในช่วงนี้เชื่อว่าในระยะยาวแล้ว จะส่งผลให้มาตรการเก็บภาษีดังกล่าวอาจไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ โดยไม่สามารถลดการบริโภคน้ำตาลได้ และปริมาณการบริโภคจะยังเพิ่มขึ้นเช่นเดิม” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

ภาพจากอินเตอร์เน็ต