อุตฯ จับมือภาครัฐและเอกชนรวม 14 หน่วยงาน ผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ประเทศไทย 4.0 ตามมติ ครม. กระทรวงอุตสาหกรรม รับลูกอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในแนวทางประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวม 14 หน่วยงาน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รวอ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเป็นอุตสาหกรรมที่รองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 และเป็นบรรทัดฐานของกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากในปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยมีความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศยังมีไม่เพียงพอ ทำให้ขาดดุลการค้าถึง 132,000 ล้านบาท ทั้งนี้หากส่งเสริมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยไม่ส่งเสริมการผลิตจะยิ่งทำให้เกิดการขาดดุลเพิ่มมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในฐานะอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ จึงได้วาง Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมในแนวประชารัฐ โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลัก คือ
1. การกระตุ้นอุปสงค์ โดยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนใช้หุ่นยนต์ 12,000 ล้านบาทในปีแรก และมีการขยายการลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาทใน 5 ปี
2. การสนับสนุนอุปทาน โดยเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง System Integrator (SI) ผู้ทำหน้าที่ออกแบบ ติดตั้งระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะพัฒนาเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติในอนาคต โดยปัจจุบันประเทศไทยมี SI ประมาณ 200 ราย ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวน SI เป็น 1,400 ราย ภายใน 5 ปี
3. การพัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปสู่การผลิตหุ่นยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อน โดยจัดตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงานนำร่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนชั้นนำจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายภายใน 5 ปี ต้องพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบอย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 200 ราย และฝึกอบรมบุคลากรไม่น้อยกว่า 25,000 คน
นายอุตตม กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตรโดยจะส่งเสริมไปสู่ Smart farming และพัฒนาไปสู่การทำเกษตรแปลงใหญ่ ด้านการแพทย์ ด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการบริการอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะมอบให้ Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาบุคลากร และยกระดับแรงงานให้มีทักษะที่สูงขึ้น (Retrain/Reskill) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้มีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) ได้กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “รวมพลังความร่วมมือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่ประเทศไทย 4.0” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนขึ้น เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนและก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิต การส่งออก และใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนภายใน 10 ปี ดังนั้น ทั้ง 14 หน่วยงานจึงเห็นชอบร่วมกันในการผลักดันการดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ผลิตภายในประเทศ สนับสนุน System Integrator (SI) และต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยกำหนดให้มีความร่วมมือต่าง ๆ ดังนี้
1.ผลักดันการใช้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
2.พัฒนาบุคลากรให้กับผู้ประกอบการและร่วมกันพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์
3.สร้างและพัฒนาระบบนิเวศน์ (Ecosystem) เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
4.ร่วมเผยแพร่งานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่ภาคอุตสาหกรรม
5.บูรณาการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง และสาธารณูปโภค เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0
6.อุตสาหกรรมในประเทศมีการลงทุนนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและบริการของไทยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท ในปี 2560 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายในประเทศ
7.ดำเนินการกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่ 14 หน่วยงานจะให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 14 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (CoRE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท สุพรัม โพรดักส์ จำกัด บริษัท เควี อีเลคทรอนิกส์ จำกัด และบริษัท ยาวาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสู่ภาคอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป