กระทรวงพาณิชย์แจงราคาสินค้าทะยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องแล้ว 279 รายการ ไข่ไก่ หมู ไก่สด ที่แพงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง ขณะที่สาเหตุหลักเกิดจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมจับตาเงินเฟ้อเดือน พ.ค.นี้จ่อขยับตามต่อเนื่อง
จากปัญหาราคาสินค้าทะยอยปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องของค่าครองชีพ รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงาน ที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย เดือนเมษายน 65 อยู่ที่ 4.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 65 ซึ่งอยู่ที่ 5.73% เนื่องจากฐานการคำนวณเงินเฟ้อเดือนเมษายน ปีก่อนสูงจึงทำให้เงินเฟ้อขยับขึ้นน้อยกว่าเดือน มี.ค.แต่ราคาสินค้ายังคงปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เนื่องจากราคาพลังงานสูงขึ้น 21.07 ส่งผลให้ ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นที่ 10.73% รวมทั้งอาหารยังปรับราคาสูงขึ้นที่ 4.83% โดยเฉพาะกลุ่มปศุสัตว์ อาทิ ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ที่แพงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง น้ำมันพืช เป็นต้นโดย สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นมี 279 รายการ ซึ่งทยอยขึ้นราคามาตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เมษายน 65 แล้ว เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง น้ำมันพืช รวมไปถึง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาของรัฐบาล โดยเริ่มปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันได 3 ครั้ง ตั้งแต่เมษายน ถึง พฤษภาคม 65
สงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตร เป็นสาเหตุทำให้ราคาพลังงาน อาหารสด และอาหารสำเร็จรูปทั่วโลก ราคาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากสถานการณ์ยืดเยื้อ คาดว่าเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม จะเพิ่มสูงขึ้นอีก รวมทั้งมาตรการตรึงราคาและลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล สิ้นสุดลงไปในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม ขณะที่มีการปรับราคาสูงขึ้นแบบขั้นบันไดของก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ในเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม 2565 ด้วย
ส่วนอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 ทั้งปีจะอยู่ที่ 4.0% – 5.0% ภายใต้สมมุติฐาน เศรษฐกิจโต 3.5% – 4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 90-110 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และค่าเงินบาท 32% – 34% บาทต่อเหรียญสหรัฐ และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนใหม่อีกครั้ง