“ประเพณีการแห่เรือองค์เมืองเพชร”สืบสาน อนุรักษ์สายเลือดคนเมืองเพชร

แม่น้ำเพชรบุรี..เป็นสายน้ำสำคัญมาแต่อดีตและเป็นแม่น้ำที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ที่คนเพชรภาคภูมิใจ แม่น้ำเพชรบุรีจะไหลอยู่แต่ในจังหวัดเพชรบุรีเท่านั้น จะไม่ไหลผ่านจังหวัดอื่นเลยจนกระทั้งลงอ่าวไทย  คือต้นน้ำจะไหลมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันตกของจังหวัดเพชรบุรี ไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ลงสู่อ่าวไทย ที่อำเภอบ้านแหลม มีความยาว 210 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อมาถึงอำเภอบ้านแหลม แม่น้ำจะแยกออกเป็น 2สาย สายหนึ่งออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบ้านแหลม อีกสายไหลไปทางทิศเหนืออกสู่อ่าวไทยที่ตำบลบางตะบูน เรียกว่า แม่น้ำบางตะบูน ซึ่งการไหลของแม่น้ำทำให้มีตะกอนไหลมาตกสะสมบริเวณดินดอนชายฝั่งปริมาณ 46 ตัน/ตารางกิโลเมตรทำให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์มากในการทำการเกษตร

Advertisement

เมื่อสมัยก่อนในงานโบราณราชประเพณีต่างๆ ก็ได้มีความนิยมในการใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีมาเป็นส่วนสำคัญในการประกอบพิธี เช่นในสมัยของรัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2411 ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามที่ปรากฏในตราสารว่า “ ด้วยกำหนดพระฤกษ์การพระราชพิธีราชาภิเษกในวันพุธ เดือน 12 ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ”ต้อง การน้ำเข้าพระราชพิธี จึงให้พระยาเพชรบุรีตักน้ำจากบริเวณท่าไชยจำนวนหนึ่งหม้อโดยเอาใบบอนปิดปากหม้อแล้วเอาผ้า ขาวหุ้มปากหม้อ ด้ายผูกติดมันตราประจำครั่งแต่งให้กรมการผู้ใหญ่คุมลงไปส่งยังพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ยิ่งในสมัยของรัชการ 9ในหลวงของเรานั้น พระราชพิธีราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชและพระราชพิธีราชภิเษกสมรสก็ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี โดยประกอบพิธีน้ำอภิเษก ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำที่เป็นสิริมงคล ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์วัดท่าไชย ตำบลสมอพลอ อำเภอบ้านลาด จึงถือว่าน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีมีความสำคัญยิ่งในงานราชพิธีต่างๆมาตั้งแต่โบราณกาล

ประเพณีการแห่เรือองค์ในอดีต

นอกจากนี้แม่น้ำเพชรยังเคยถูกใช้เป็น น้ำเสวยเครื่องต้นอีกด้วย ในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2465 ความตอนหนึ่งว่า …เรื่องแม่น้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันว่าเป็นน้ำดีเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่านิยมกันว่ามันมีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งพระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้วเสวยน้ำอื่นๆไม่ อร่อยเลยต้องส่งน้ำเสวยจากเมืองเพชรบุรีและน้ำนั้นเป็นน้ำเสวยจริงๆตลอดมา กาลปัจจุบัน” ซึ่งน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองเพชรที่ เล่าขานเสมอมาว่าน้ำเพชรฯ นั้นดีจืดอร่อย แม้แต่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงโปรดเสวยน้ำเพชรที่ท่าไชยนับเป็นเกียรติคุณที่ชาว เพชรภาคภูมิใจ แต่ความสำคัญของน้ำเพชรสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2465 โดย ได้เปลี่ยนเป็นน้ำประปาแทน เมื่อพ.ศ. 2465

แม้ในปัจจุบันความสำคัญของแม่น้ำเพชรบุรีจะถูกลดความสำคัญไปในหลายๆด้านตามยุคตามสมัยที่เปลี่ยนไป แต่ในหัวใจของคนเมืองเพชร แม่น้ำเพชรบุรียังมีความสำคัญอยู่ในทุกลมหายใจ แม้ขนาดจะดูเล็กลงด้วยการตกตะกอนของกาลเวลาแต่ใครลองมาเรียกแม่น้ำเพชรบุรีว่าเป็นคูคลองก็ได้เห็นดีกันล่ะ เพราะถือเป็นศักดิ์ศรีของคนเมืองเพชรด้วย

“กลุ่มคนรักเมืองเพชร”กำลังให้ความรู้กับสื่อมวลชน

เคยมีแนวคิดจากฝ่ายราชการที่จะทำถนนรอบแนวแม่น้ำเพชรบุรีแต่ได้ถูกต่อต้านจากกลุ่มพลังมวลชนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มคนรักเมืองเพชร”ซึ่งเป็นการรวมตัวกันจากหลายภาคส่วนโดยมีหลักการเดียวกัน และในการต่อต้านครั้งนี้ต้องเรียกได้ว่าเป็นการต่อต้านบนหลักอหิงสาโดยแท้ เพราะไม่มีการชุมนุมเอากฎหมู่มาบีบบังคับฝ่ายราชการอย่างใด แต่กลับใช้วัฒนธรรมประเพณีที่เข้มแข็งในการต่อสู้เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ และงดงามของแม่น้ำเพชรบุรี และประเพณีนี้คือ “ประเพณีการแห่เรือองค์เมืองเพชร”

ประเพณีการแห่เรือองค์ในยุคปัจจุบัน

“ประเพณีการแห่เรือองค์” เป็นการทอดกฐิน หรือทอดผ้าป่าทางน้ำแบบโบราณ ก่อนหน้านี้ได้สูญหายไปจากเมืองเพชรบุรี กว่า 50 – 60 ปี กระทั่งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2540 “กลุ่มคนรักเมืองเพชร” ได้จัดประเพณีการแห่เรือองค์ขึ้นมา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนคนเรือมาช่วยกันอย่างคับคั่ง และในปี พ.ศ.2550และ พ.ศ.2551 จังหวัดเพชรบุรียังได้ร่วมกันจัดขบวนแห่เรือองค์เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 80 พรรษา และเพื่อฟื้นฟูประเพณีอันดีงามเพื่อให้เกิดความหวงแหนวัฒนธรรมท้องถิ่นและปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์แม่น้ำเพชรบุรีอันเป็นแม่น้ำสายประวัติศาสตร์

การแห่เรือองค์ คำว่า องค์ คือ องค์กฐิน หรือ องค์ผ้าป่า ที่ตั้งอยู่ในลำเรือ แต่ก่อนวัดและบ้านเรือนจะหันหน้าลงสู่แม่น้ำ เพราะใช้สายน้ำเป็นเส้นทางสัญจรติดต่อกัน ต่อมาถนนหนทางเจริญขึ้น การสัญจรทางน้ำก็ลดน้อยลงไป รวมทั้งประเพณีการทอดกฐิน และทอดผ้าป่าทางน้ำก็พลอยสูญหายไปจากท้องถิ่นด้วย ทางกลุ่มคนรักเมืองเพชร จึงได้ริเริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2540 เพื่อให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำเพชร ไม่ปล่อยให้สกปรก เต็มไปด้วยขยะขาดผู้ดูแลเอาใจใส่ และริเริ่มมีสิ่งก่อสร้างลุกล้ำมาในแม่น้ำ ขบวนเรือองค์ที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนที่ตื่นเต้นเฝ้ารอคอยก็งดงามสมดังวาดฝันที่กลุ่มคนรักเมืองเพชรวาดไว้ มีท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และ ผู้ว่าฯ ศิวะ แสงมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ร่วมเป็นประธานปล่อยเรือองค์ร่วมกับกลุ่มคนรักเมืองเพชร ในขบวนประกอบไปด้วยเรือองค์ จำนวน 1 ลำ เรือบริวาร จำนวน 32 ลำ เป็นเรือกลองยาว เรือยาวขนาดฝีพายต่าง ๆ โดยมีเรือตรวจการของเทศบาลเมืองเพชรบุรี นำขบวนแล่นจากท่าน้ำวัดอัมพวัน และขึ้นที่ท่าวัดพลับพลาชัย เพื่อนำองค์ผ้าป่าไปทอด ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร สมทบกองทุนพระเทพสุวรรณมุนี กระบวนการแห่เรือองค์ในครั้งนั้น ตลอดจนการฉลององค์ผ้าป่าที่จัดก่อนวันเคลื่อนขบวนแห่ 1 วัน ได้รับความช่วยเหลือจากทุกฝ่ายเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะทุกคนต่างตระหนักในความสำคัญของแม่น้ำเพชรที่ยิ่งใหญ่สายประวัติศาสตร์

การแห่เรือองค์ถือเป็นกิจกรรมของท้องถิ่นที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นในวิถีชีวิตของผู้คน ตลอดจนการให้ความสำคัญของสายน้ำ ที่เปรียบเสมือนสายธารของชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี อันหล่อหลอมให้เกิดกิจกรรม จากความสมานสามัคคีของชุมชนและที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ได้แสดงให้เห็นถึงพลังความรักความหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นตนจนเกิดแรงบันดาลใจที่จะพลิกฟื้นประเพณีดั้งเดิมให้ย้อนกลับคืนมา รวมทั้งยังได้มีส่วนร่วมในการที่จะอนุรักษ์และให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของแหล่งน้ำซึ่งนับวันจะตื้นเขิน ถูกทอดทิ้งให้หันมาเอาใจใส่ร่วมกันดูแลให้แม่น้ำเพชรได้มีโอกาสรับใช้ผู้คน ในอีกบทบาทหนึ่งของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ อันจะเป็นผลให้เกิดการระแวดระวังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสภาพของแม่น้ำเพชรบุรีซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ขนบประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คนที่ยังจะได้ใช้สอย ดื่มกิน และช่วยในการเกษตรเป็นเส้นโลหิตใหญ่ของเมืองที่ใสสะอาดปราศจากมลภาวะตลอดไปอีกนานแสนนาน