ไส้แห้งอยู่ทำไมไปขายไส้อั่วกันดีมั้ย? ศ.มทร.ธัญบุรี แนะสูตร ‘ไส้อั่วสมุนไพรหัวปลี’ ทำกินเองก็อร่อยแบบง่าย จะทำขายก็เห็นกำไร สนใจดูรายละเอียดแล้วโทรเลย
ไส้อั่วสมุนไพรหัวปลี อีกหนึ่งเมนูแนะนำจากนักศึกษารายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ผลงานของ ผศ.ดร.เลอลักษณ์ เสถียรรัตน์ อาจารย์ประจำวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน “ฟาง” น.ส.ธนิสร ทองแบบ “ตุ๊กตา” น.ส.ภัทราพร ชัชวาล “เตย” น.ส.ปราณปรียา แก่กล้า “วรรณ” น.ส.เบญจวรรณ คำเหลือ และ “เชียร์” น.ส.จิรัชญา สุทธกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ถ่ายทอดให้กับชุมชน นำต่อยอดสร้างรายได้
ผศ.ดร.เลอลักษณ์ เล่าว่า สืบเนื่องจากที่นักศึกษาลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชน พบว่าในพื้นที่มีหัวปลี และวัตถุดิบที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เดิมนักศึกษาจะทำน้ำพริกกากหมูจากหัวปลี “น้ำพริกกากหมูต้องใช้ส่วนผสมที่แห้งความชื้นต่ำเพื่อให้สามารถเก็บได้นาน โดยต้องนำหัวปลีไปทำให้แห้งด้วยวิธีการอบแห้ง ทำให้หัวปลีเหนียวและแข็ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในน้ำพริกกากหมู” จึงให้คำปรึกษากับนักศึกษาว่ามีสูตรการทำไส้อั่วจากงานวิจัยอยู่แล้ว สามารถนำมาปรับสูตรใช้ได้
ซึ่งคนไทยเป็นชาติเดียวที่นิยมรับประทานหัวปลี (ส่วนดอกของกล้วย) สรรพคุณของหัวปลีมีมากมาย ยกตัวอย่าง เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร อุดมไปด้วยแคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก และธาตุเหล็กช่วยบำรุงเลือด ทางยาแพทย์แผนไทยหรือยาพื้นบ้าน
ถือว่าหัวปลีเป็นอาหารบำรุงน้ำนมชั้นเลิศของสตรีที่ให้นมบุตร จึงแนะนำให้คุณแม่หลังคลอดรับประทานหัวปลีเพื่อกระตุ้น การหลั่งน้ำนมและช่วยบำรุงเลือด เมนูส่วนใหญ่ที่นำหัวปลีมาประกอบอาหาร เช่น ต้มกะทิหัวปลี แกงเลียงหัวปลี ยําหัวปลีกุ้งสด ทอดมันหัวปลี เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับหัวปลี ไส้อั่วสมุนไพรหัวปลีจึงเป็นอีกเมนูทางเลือกที่สามารถทำได้ง่าย โดยนำหัวปลีมาเป็นส่วนผสมช่วยลดปริมาณเนื้อสัตว์ซึ่งมักมีราคาแพง
ส่วนผสมประกอบด้วย เนื้อหมูบด 500 กรัม หัวปลีสับละเอียด 500 กรัม ใบมะกรูดหั่นฝอย 10 ใบ ผักชีซอย 2 ช้อนโต๊ะ ต้นหอมซอย 2 ช้อนโต๊ะ และไส้หมู ส่วนผสมเครื่องแกง พริกแห้ง 10 เม็ด ข่าหั่น 1 ช้อนโต๊ะ ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ หอมแดง 10 หัว กระเทียม 20 กลีบ กะปิ 2 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนชา จากสูตรดังกล่าวได้ไส้อั่วสมุนไพรหัวปลี 1 กิโลกรัม
ด้าน “เตย”น.ส.ปราณปรียา แก่กล้า เพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการทำไส้อั่วสมุนไพรหัวปลีว่า เริ่มจากการโขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด นำเนื้อหมูบด หัวปลีสับลงคลุกเคล้ากับเครื่องแกงที่โขลกไว้ ให้เข้ากัน ใส่ผักชี/ต้นหอม/ใบมะกรูดซอย คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำไส้หมูมาล้างให้สะอาด วิธีการล้าง ไส้หมูคือใส่น้ำลงในไส้ แล้วกลับด้านในออกมาด้านนอก จากนั้นนำไปแช่น้ำใส่เกลือ ประมาณ 10 นาที แล้วกลับด้านนอกออกเหมือนเดิม เมื่อได้ไส้หมูแล้วนำส่วนผสมที่คลุกเคล้าไว้เรียบร้อยแล้ว มากรอกใส่ไส้หมู โดยใช้กรวยช่วยในการกรอกใส่ไส้ เมื่อกรอกไส้จนเต็มแล้ว มัดปากไส้ นำไส้อั่วที่ได้ มาย่างไฟอ่อน ๆ จนสุกเหลืองทั่ว ประมาณ 45 นาที ขณะที่นำไส้อั่วย่างไฟ ให้ใช้ไม้จิ้มเพื่อระบายอากาศไม่ให้ไส้แตก การย่างกับ ถ่านไม้ ไส้อั่วจะมีกลิ่นหอม “โจทย์ของเราคือการหาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมากในชุมชน เพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประสบปัญหาวัตถุดิบผลผลิตมีราคาถูกมาก โดยหัวปลีจำหน่ายได้เพียงหัวละ 3 – 5 บาท จึงอยากนำผลผลิตในชุมชนมาใช้ให้ได้มากที่สุด”
ผศ.ดร.เลอลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับมุสลิมอาจจะดัดแปลงใช้เนื้อสัตว์ชนิดอื่น เช่น ไก่ โดยเลือกส่วนหน้าอก ซึ่งมีราคาจะถูกมากนำมาผสมมันไก่หรือหนังไก่ลงไป ส่วนไส้หมูก็ใช้ไส้เทียมทดแทน หรือถ้ากลุ่มแม่บ้านทำขายจำนวนมากๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว แนะนำให้ใช้ไส้เทียมแทนไส้หมู เพราะหาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพง โดยราคาขายไส้อั่วสมุนไพรหัวปลีกิโลกรัมละ 300 บาท ทำง่าย สร้างกำไร และสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้ ผู้สนใจสามารถนำสูตรไส้อั่วสมุนไพรหัวปลีไปทำขายเพื่อสร้างรายได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่เบอร์ 087-5181144