เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) มีเวทีเสวนา สช.เจาะประเด็น “หยุด!! ฆ่าน้ำนมแม่”
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ ผุ้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พรบ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 หรือ พรบ.มิลค์โค้ด หรือ พรบ.นมผง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กันยายน 2560 ซึ่งสาระสำคัญ คือ การห้ามส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ห้ามลด แลก แจก แถมและการห้ามโฆษณาอาหารทารกโดยเด็ดขาด และห้ามการโฆษณาอาหารสำหรับเด็กเล็กที่เชื่อมโยงมายังทารก โดยทารกหมายถึงเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง อายุ 12 เดือน และเด็กเล็ก หมายถึง เด็กอายุเกิน 12 เดือนจนถึง 3 ปี
รวมถึง จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงฉลากของผลิตภัณฑ์นมผงในล็อตการผลิตหลังวันที่ 9 กันยายน 2560 ให้มีความแตกต่างระหว่างนมผงสูตรสำหรับทารกและสูตรสำหรับเด็กเล็ก เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดเมื่อเห็นโฆษณานมผงเด็กเล็กว่าเป็นนมผงทารก ส่วนล็อตการผลิตก่อนหน้านั้นสามารถวางขายในตลาดได้อีกเป็นเวลา 1 ปี คือ หลังจากวันที่ 9 กันยายน 2561 จะต้องไม่มีฉลากที่คล้ายคลึงกันอีก เป็นต้น