เกษตรกรเซ็งเป็ด! ไร้สารทดแทนแต่ยังแบนพาราควอต

คกก.วัตถุอันตราย คงมติเดิมไม่ทบทวนการออกประกาศให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้ และมีเหตุผลรองรับว่าสารดังกล่าวเป็นสารอันตรายมีผลเสียต่อสุขภาพ

Advertisement

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 3-2/2563 ว่า หลังจากมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมา

 

ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯได้รับข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากรายงานผลการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้อเสนอจากบุคคลและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย ให้คงมติคณะกรรมการฯ (ไม่ขยายเวลา) และขอให้ทบทวนมติที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต รวมทั้งมีผู้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบและแนวทางลดผลกระทบมาให้คณะกรรมการพิจารณา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติ ยังไม่ทบทวนการออกประกาศที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยคณะกรรมการอยู่ในห้องประชุมจำนวน 24 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 27 คน มีผู้เห็นด้วยกับการทบทวนมติ จำนวน 4 คน และไม่เห็นด้วยจำนวน 20 คน

 

ดังนั้น คกก.วัตถุอันตราย จึงยังคงมติเดิมที่เห็นว่ายังไม่สมควรทบทวนการออกประกาศที่ให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้ และมีเหตุผลรองรับชัดเจนอยู่แล้วว่าสารดังกล่าวเป็นสารอันตรายมีผลเสียต่อสุขภาพ เห็นได้จากต่างประเทศที่ประกาศยกเลิกใช้สารนี้ในหลายประเทศ

 

ด้าน นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่สามารถจัดหาสารทดแทนได้ แต่มีสารทางเลือกซึ่งต้นทุนสูงกว่า และกระบวนการทางเกษตรอินทรีย์ในการควบคุม/กำจัดวัชพืช แมลง/ศัตรูพืชให้ผลผลิตทางการเกษตรปลอดสารเคมีด้วย โดยกระทรวงเกษตรฯจะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ หามาตรการการตลาดด้านราคาพืชผลทางการเกษตรให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้น เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาผลิตสินค้าในเชิงเกษตรอินทรีย์มากขึ้นและเลิกใช้สารเคมีต่อไปในอนาคต

 

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.health2click.com/