สถานการณ์ปัญหาต่างๆที่รุมเร้าเป็นปัจจัยที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตายหนีปัญหา โดยปัญหาด้านสัมพันธภาพ อาการป่วยกาย และจิต การสุรา และปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นปัญหาที่ทำคนฆ่าตัวตายตามลำดับ ซึ่งตัวเลขเผยให้เห็นความน่าตระหนกของอัตราผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้น
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมีความน่ากังวลว่า จากภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศในปี 2562 อยู่ที่ 6.64 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,419 รายต่อปี โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องเป็นปัญหาด้านสัมพันธภาพ อาการป่วยกาย และ จิต การสุรา และปัญหาด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ
สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2563 นี้ ซึ่งเริ่มมีการระบาดของ COVID-19 นั้น มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 2,551 ราย คิดเป็น 3.89 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2562 (จำนวน 2,092 ราย) โดยปัญหาด้านสัมพันธภาพยังคงเป็นปัจจัยลำดับแรก ตามมาด้วยปัญหาอาการป่วยกายและจิต เศรษฐกิจ และสุรา ตามลำดับ
การเพิ่มขึ้นในอัตรานี้มีความคล้ายคลึงกับการเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีก่อนที่มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20-30 ในช่วง 3 ปีหลังเกิดวิกฤต
ขอบคุณภาพประกอบจาก ศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 อุดรธานี