อุโมงค์ทางลอด 304 ช่วยชีวิตสัตว์ป่าฟื้นธรรมชาติ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ

กว่า 1 ขวบปีที่อุโมงค์ทางลอด สัตว์ป่าข้าม บนทางหลวงหมายเลข 304  ถูกสร้างขึ้นมา ส่งผลให้ระบบนิเวศฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด เพราะสัตว์ป่าสามารถเดินข้ามผืนป่าได้ ทำให้มีการผสมข้ามสายพันธุ์ โดยประชากรสัตว์ป่าที่เกิดใหม่มีแนวโน้มแข็งแรงและสมบูรณ์กว่าในอดีตมาก นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

Advertisement

ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าถือเป็นมรดกล้ำค่าที่ไม่อาจประเมินได้ แต่ละปีประเทศไทยต้องสูญเสียสัตว์ป่าจากน้ำมือของมนุษย์ไปเป็นจำนวนมาก นอกเหนือจากการลักลอบล่าสัตว์ป่าแล้ว อุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 75 จุดทั่วประเทศล้วนเป็น “จุดเสี่ยง” ดังปรากฏเป็นข่าวเศร้าสลดใจ ผู้ขับขี่ยานพาหนะชนสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง หมีควาย กระทิง เก้ง หรือลิงป่า ฯลฯสัตว์ป่าจำนวนมากต้องสังเวยชีวิตบนท้องถนนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อีกทั้งยังผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ถนนบริเวณดังกล่าว บางรายเสียชิวต ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก

“ถนน” ที่ตัดผ่านผืนป่าสมบูรณ์ ส่งผลให้ไม่มีเส้นทางที่ปลอดภัยเพียงพอให้สัตว์ป่าใช้ข้ามระหว่างผืนป่า ก่อนหน้านี้ “ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ยังมีเส้นทางอันตรายอีกไม่น้อยกว่า 75 จุด ที่ตัดผ่านพื้นที่อุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ

ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

ส่งผลกระทบและรบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า ทำให้แต่ละปีมีสัตว์ป่าถูกรถชนตายจำนวนมาก จำเป็นต้องแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง“แนวทางคือ ต้องทำแนวเชื่อมต่อผืนป่าในรูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ทำทางยกระดับ หรือทำอุโมงค์เชื่อมผืนป่า เพื่อให้สัตว์สามารถข้ามไปมาได้โดยไม่เกิดอันตราย”

อุโมงค์ทางลอด สัตว์ป่าข้าม บนทางหลวงหมายเลข 304  (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) จึงถูกก่อสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม  เนื่องจากเป็น “เส้นทางมรณะ” ของสัตว์ป่าแต่ละวันมีรถสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ ที่ใช้ขนส่งสินค้าระหว่างภาคตะวันออก และภาคอีสาน ที่มีการจราจรคับคั่ง และเป็นเส้นทางสายสำคัญในการเชื่อมต่อไปยังกับประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา และ สปป.ลาว เข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และพื้นที่ EEC

ทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ทล.304 จึงถือเป็นโครงการ “ต้นแบบ” ในพื้นที่อนุรักษ์แห่งแรกในประเทศไทย อยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่าง “อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” และ “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2548

นอกจากนี้ ยังได้ก่อสร้างสะพานทางยกระดับเพื่อเป็นทางลอดสัตว์ป่า (Wildlife Underpass) ระยะทาง 570 เมตร และ 340 เมตร ตามลำดับ ซึ่งรถยนต์สามารถวิ่งบนสะพาน ในขณะเดียวกัน “สัตว์ป่า” สามารถลอดใต้สะพานไป-มาได้อย่างปลอดภัยความโดดเด่นคือ ได้ออกแบบเป็นอุโมงค์ดินตัดและถมกลับ ถมดินด้านบนอุโมงค์ ปลูกต้นไม้เพื่อจูงใจให้สัตว์ป่าเข้ามาใช้ประโยชน์ และข้ามฝั่งไป-มาได้ ปัจจุบันหลังคาอุโมงค์พบรอยเท้าของสัตว์ป่าข้ามไป-มาหากันทั้งสองผืนป่าจากการสำรวจภายในพื้นที่อุโมงค์ทางรอดสัตว์ป่า พบรอยตีนของ “เลียงผา” และเดินออกมาอวดโฉมให้เห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจบริเวณ ทางเชื่อมผืนป่าสำหรับให้สัตว์ข้าม (Wildlife Corridor) อีกทั้งในยามค่ำคืน กล้องเอ็นแคป (NCAPS) ที่ตั้งไว้ ยังปรากฎสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลายชนิด เช่น เก้ง กวาง แมวดาว ลิงป่า หมี และสัตว์นักล่าอย่าง “เสือโคร่ง” เดินข้ามเขตแดนจากป่าทับลาน สู่ป่าเขาใหญ่ บริเวณแม่น้ำลำพระยาธาร

“ทางเชื่อมผืนป่า” สำหรับให้สัตว์ป่าข้าม ระหว่างป่าทับลานและป่าเขาใหญ่นั้น ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เพราะสัตว์ป่านานาชนิดใช้เส้นทางนี้ในการเดินข้ามผืนป่าเป็นเส้นทางหลัก ที่สำคัญมีความปลอดภัยไม่ต้องสุ่มเสี่ยงถูกรถชนเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และยังเป็นการช่วยขยายประชากรสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ อย่างเสือโคร่งได้เป็นอย่างดี

กว่า 1 ขวบปีที่อุโมงค์ทางลอด สัตว์ป่าข้าม บนทางหลวงหมายเลข 304  ถูกสร้างขึ้นมา ส่งผลให้ระบบนิเวศฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด เพราะสัตว์ป่าสามารถเดินข้ามผืนป่าได้ ทำให้มีการผสมข้ามสายพันธุ์ โดยประชากรสัตว์ป่าที่เกิดใหม่มีแนวโน้มแข็งแรงและสมบูรณ์กว่าในอดีตมาก

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งน่าจะเป็นโมเดลขยายไปเพื่อการบริหารจัดการปกป้อง และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทย เพราะผืนป่า และสัตว์ป่าที่สมบูรณ์คือ “มรดกอันล้ำค่า” ที่จะต้องดำรงสืบไปให้แก่โลกสีฟ้าใบนี้