“ไหม”บนเส้นทางฝ่าวิกฤติโควิดฟื้นศก.ชาติ สร้างงาน-รายได้ชุมชน หนุนภาคเกษตรไทย

เส้นทางสายไหม (ใหม่) จากภูมิปัญญาไทยโบราณ สู่ การพลิกฟื้นศก.-คุณภาพชีวิตชุมชนเกษตรกรไทย โดยกรมหม่อนไหม ในสองโครงการตามพระราชดำริ “ส่งเสริมงานศิลปาชีพเชิงรุก-ฟาร์มตัวอย่างต้านภัย Covid – 19

Advertisement

“ไหม” ต้นทางและที่มาของผลิตภัณฑ์แปรรูป ซี่งเป็น สินค้าทรงคุณค่าของไทย ทั้งในเชิง คุณค่า และ ในด้านของ ภูมิปัญญา กำลังจะกลับมามีบทบาทสำคัญ เกี่ยวกับ การขับเคลื่อนแนวทางของ “ไหม” เพื่อไปสร้างเศรษฐกิจฐานราก เป็นหนึ่งในแนวคิดของการพลิกฟื้นวิถีชุมชน และวิถีเกษตรกรรมไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด -19 ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนไทย ชุมชน และภาคเกษตรไทยและยังเป็น โครงการเพื่อสนองงานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชวงศ์ทุกพระองค์

นายสันติ กลึงกลางดอน รองอธิบดีกรมหม่อนไหม

 

“นายสันติ  กลึงกลางดอน” รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง เส้นทางของ “ไหม” และการดำเนินการตามโครงการฯ ว่า “เรื่องของไหม และผลิตภัณฑ์จากไหม อยู่คู่กับสังคมไทย มาตั้งแต่สมัยโบราณ เริ่มต้นจากในดินแดนแถบสุวรรณภูมิ เป็นเกษตรพื้นบ้าน เป็นสินค้าพื้นถิ่น ประวัติศาสตร์ของไทยไหมก็มีมาตั้งแต่ช่วงสุโขทัย เป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ ภาคการเกษตรและชุมชนของไทยมายาวนาน

ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 5 ก็มีแนวคิดที่จะสืบทอดภูมิปัญญาไทยโบราณ โดยมีการปฏิรูปการเลี้ยงไหม และการผลิตไหม โดยสร้างเป็นสถาบันการศึกษา โรงเรียนช่างไหม ที่ถนนศาลาแดง  ถือได้ว่า เป็นการปฏิรูปการนำไหมมาเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ และในสมัยรัชกาลที่ 9 เรื่องของไหมจึงกลับมาได้รับการส่งเสริมพัฒนาอีกครั้ง โดยสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติติ์ พระบรมราชินีนาถ (ในสมัยนั้น) พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นวิถีชีวิตชุมชน เกษตรกร และ เรื่องของไหม จึงได้มีพระราชดำริ ก่อตั้งเป็นศูนย์ศิลปาชีพ ในช่วงราวปี 2519 ซึ่งนับเป็นช่วงยุคทองของไหมไทย จนถึงวันนี้ไหม ไม่เพียงเป็นเรื่องของเสื้อผ้าอาภาภรณ์ เครื่องนุ่งห่มเท่านั้น แต่ยังถูกแปรรูปในภาคอุตสาหกรรม ไปเป็นเครื่องมือแพทย์ เป็นเครื่องสำอางค์ เป็นเวชภัณฑ์ และยังแปรรูปรวมถึงพัฒนาต่อยอดไปเป็นสินค้าได้อีกหลากหลายในอนาคต

สำหรับบทบาทของกรมหม่อนไหม จุดเริ่มต้นมาจากงานในส่วนนี้ของกระทรวงฯ และตั้งเป็นสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติฯ ช่วงปี 2548 และต่อเนื่องมาปี 2552 ยกระดับจากสถาบันมาเป็นกรมฯ และดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีภารกิจหลักๆ คือการต่อยอดสืบสานงานจากมูลนิธิศิลปาชีพฯ จนมาถึงโครงการสนับสนุนต่างๆ ที่ล่าสุด กรมมีโครงการ ส่งเสริมงานศิลปาชีพเชิงรุก ซึ่งมีทั้งหมด จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ศิลปาชีพหม่อนไหมบ้านห้วยเดื่อ อ.เมือง จ. แม่ฮ่องสอน (ศมม.เชียงใหม่) กิจกรรมส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจรศูนย์ศิลปาชีพ บ้านกุดนาขาม อ.เจริญศิลป์ จ. สกลนคร (ศมม.สกลนคร)จัดทำจุดเรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรจัดทำจุดเรียนรู้เรื่องการผลิตครามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพทุ่งกะมัง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ (ศมม.ชัยภูมิ) กิจกรรมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานลายเอกลักษณ์หมี่คั่นขอนารีย้อมสีธรรมชาติ

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ (ศมม.สุรินทร์)กิจกรรมศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจรโครงการศิลปาชีพศึกษาพัฒนาไหมไทยพื้นบ้าน ไหมดาหลา และแมลงทับ จ.สระแก้ว (หน่วยส่งเสริมหม่อนไหมสระแก้ว)จัดทำจุดเรียนรู้การเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านจัดทำจุดเรียนรู้การเลี้ยงไหมดาหลาจัดทำจุดเรียนรู้การเลี้ยงแมลงทับจัดทำแปลงเรียนรู้การเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช (หน่วยส่งเสริมหม่อนไหมตรัง)กิจกรรมส่งเสริมการทอผ้าประจำถิ่น

โดยในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ก็ยังมีส่วนจิตอาสา ซึ่งเป็นโครงการของในหลวง ร.10 เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นแนวทางมาจากการพัฒนาต่อยอดแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” จากสมัยของในหลวง ร.9 ในโครงการฟาร์มตัวอย่าง ดำเนินการโดย ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) ได้จัดทำโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัย Covid – 19 โดยมอบหมายให้จิตอาสา 904 ดำเนินการสำรวจโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรายได้ของประชาชนกำหนดเป้าหมาย จำนวน 30 แห่ง ทั่วประเทศ กรมหม่อนไหมจึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนกิจกรรมด้านหม่อนไหมภายใต้ โครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัย Covid – 19 ในพื้นที่ 17 จังหวัด ซึ่งรับผิดชอบโดยศูนย์หม่อนไหมฯ จำนวน 7 ศูนย์ และหน่วยส่งเสริมหม่อนไหม จำนวน 1 หน่วย โดยดำเนินกิจกรรม 1.สนับสนุนต้นหม่อนพันธุ์ดี (หม่อนใบและหม่อนผล) สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ และการแปรรูป 2. สนับสนุนวัสดุบำรุงต้นหม่อน 3. สาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อน (การทำน้ำหม่อน, การทำแยมหม่อน) 4. จัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผลยืนต้น เพื่อเป็นแปลงสาธิตการให้ความรู้เรื่องการปลูกหม่อนสร้างอาชีพ และ5. จ้างเหมาแรงงานจ้างเหมาขุดล้อมต้นหม่อนขนาดใหญ่ทำแปลงสาธิต” รองอธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

และทั้งหมดนี้ คือภาพรวม ภารกิจ พันธกิจ ของกรมหม่อนไหม กับการ สร้างแนวทางการฟื้นเศรษฐกิจชุมชน และภาคการเกษตรของไทย ผ่านโครงการพระราชดำริ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ผ่านโครงการต่างๆ ในการพลิกฟื้นคุณภาพชีวิต วิถีความเป็นอยู่ของชุมชน และเกษตรกรไทย รวมทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต