ศักดิ์สิทธิ์ ผสม คลาสสิค “ประตูกาลเวลา”แห่งอยุธยาที่วัดพระงามเทรนด์เซลฟี่ถ่ายภาพที่กำลังมาแรง แวะไปเที่ยวแบบเช้าเย็นกลับเพื่อจะได้ไม่ตกเทรนด์
หลายคนยกให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ หลายคนยกให้เป็นเทรนด์สุดคลาสสิค หลายคนก็นับเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ หลายคนก็มองที่บรรยากาศ หลายคนก็มองไปในเรื่องของประวัติศาสตร์โบราณคดี ก็สุดแล้วแต่จะมองไปในมุมไหน
แต่ที่แน่ๆ วัดพระงาม คลองสระบัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลายคนคงต้องหาวันว่างแวะไปเยี่ยมไปเยือน กับจุดเด่นแห่งความคลาสสิคของ “ประตูกาลเวลา” ซุ้มประตูวัดที่ถูกห้อมล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ จนกลายเป็นที่นิยมถ่ายภาพน่าประทับใจ กับบรรยากาศสงบร่มเย็นภายในวัด ที่ไปแล้วหลายคน “ประทับใจ”
แต่ก่อนจะไปว่ากันถึงเรื่องของ “ประตูกาลเวลา” อันเป็นไฮไลท์ของสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งกำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ไปลองดูประวัติ “วัดพระงาม”ในมุมมองเชิงประวัติศาสตร์โบราณคดีดูบ้างเพื่อให้การเที่ยวมีอรรถรส ไม่เพียงแต่จะได้ความคลาสสิค แต่ยังได้ซึมซับวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ แห่งกลุ่มโบราณสถานคลองสระบัว กับอดีตชุมชนที่ยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายในสมัยอยุธยากัน
ว่าแล้วคงต้องไปเริ่มต้นกับประวัติของวัดแห่งนี้ แต่ต้องเน้นย้ำก่อนว่า นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้เขียน ส่วนจะมีข้อโต้แย้งภายหลังก็ยินดีรับฟังแลกเปลี่ยน เกี่ยวกับประวัติวัดพระงาม ที่ระบุกันว่ายังคงมีประวัติความเป็นมาไม่แน่ชัด
ซึ่งจากการเดินชมโบราณสถานอาทิ ตัวฐานโบสถ์ และพระเจดีย์ประธาน พอจะกำหนดอายุคร่าวๆ การสร้างวัด ไว้ได้ราวช่วงอยุธยาตอนต้น ต่อเนื่องมาจนถึงอยุธยาตอนกลาง หรือ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-21 เหตุผลสำคัญคือลักษณะของวัดที่สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นที่นิยมกันในช่วงอยุธยาตอนต้น รวมถึงองค์เจดีย์ประธาน ทรงระฆังลังกาฐานแปดเหลี่ยม ซึ่งอ้างอิงจาก คลิป เสียงสะท้อนจากอดีต ตอน มุมมองใหม่ ศิลปะอยุธยา 417 ปี ดร.ฉันทัส เพียรธรรม ผู้ช่วยคณะบดีคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ระบุถึงเจดีย์ในลักษณะนี้โดยแบ่งเป็นยุคๆ เอาไว้
ซึ่งเมื่อศึกษาจากคลิปดังกล่าว แล้วนำมาประมวลวิเคราะห์เพิ่มเติม ก็จะได้ช่วงเวลาของเจดีย์องค์นี้จะอยู่ในช่วงยุคที่ 2 พุทธศตวรรษที่ 20-21 (ตามคลิป) ซึ่งเมื่อสังเกตุ เจดีย์องค์ประธานของวัดพระงามแห่งนี้ มีศิลปะกรรมใกล้เคียงคล้ายคลึงกับที่วัดกระชาย หรือ วัดอื่นๆ ในยุคเดียวกัน

แต่เมื่อพิจารณาจากใบเสมา ซึ่งมีขนาดใหญ่ และคล้ายกับวัดหน้าพระเมรุ วัดเมหยงค์ รวมถึงวัดอื่นๆ ที่อยู่ในยุคเดียวกัน ซึ่งอาจบ่งบอกไปถึงช่วงอยุธยาตอนต้น ถึง ตอนกลาง (พุทธศตวรรษที่ 19-21) ดังนั้นจึงสรุปข้อสันนิษฐานว่า “วัดพระงาม” อาจสร้างในช่วงอยุธยาตอนต้นต่อเนื่องอยุธยาตอนกลาง หรือ อาจสร้างในช่วงอยุธยาตอนต้นแล้วมีการบูรณะซ้ำในช่วงเวลาต่อมา ซึ่งทั้งหมดเน้นย้ำว่า “เป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนตัวของผู้เขียน” แต่หากใครมีข้อมูลอ้างอิงที่ชัดเจนกว่านี้ ก็ยินดีแลกเปลี่ยนเพื่อนำมาแก้ไขให้เกิดความถูกต้องตามหลักวิชาการ

กลับมาที่ไฮไลท์ของวัดแห่งนี้กันต่อ “ประตูกาลเวลา” ที่ในเวลานี้ จัดได้ว่าเป็นวิว เป็นเทรนด์สุดฮอตฮิต ซึ่งทั้งศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง และมีความคลาสสิค หลายคนจึงอยากหาโอกาสซักครั้งแวะไปเยี่ยมเยือน และเซลฟี่เป็นที่ระลึกกับประตูแห่งนี้ โดยสมญานาม “ประตูกาลเวลา” ก็ช่างเป็นคำที่เหมาะสมลงตัว และช่วยให้สถานที่แห่งนี้ ทวีความน่าสนใจและน่าไปเยือนมากยิ่งขึ้น

สำหรับการเดินทางไปวัดพระงาม และประตูกาลเวลา ก็ไม่ยากนักกับแผนที่จากกูเกิลแม็ป หรือจะใช้เส้นทางเดียวกับการไปยังวัดพระเมรุ และ วัดศรีโพธิ์ เลยวัดศรีโพธิ์ ไปเล็กน้อยก็จะถึงวัดแห่งนี้
ใครที่อยากฮอตฮิตติดเทรนด์เซลฟี่แบบสุดคลาสสิค หรือจะไว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปล่อยปลา ทำบุญ หรือจะอิ่มเอมไปกับประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาวัดนี้เหมาะอย่างยิ่ง เพราะถ้าเดินทางจากจังหวัดใกล้เคียงแล้วไม่ไกล ไปเช้าเย็นกลับได้สบายๆ
และยังมีเวลาแวะชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งอื่นๆ อาทิ วัดหน้าพระเมรุ หรือกลุ่มวัดโบราณสถานคลองสระบัวแห่งอื่นๆ หรือแม้แต่วังหลวงวังโบราณกรุงศรีอยุธยาซึ่งอยู่ไม่ไกลกันได้สบายๆ ไม่เหนื่อยกับการเดินทาง

ซึ่งแม้แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวแวะมาเยือนสถานที่แห่งนี้พอสมควร และเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยทั้งที่มาเพื่อถ่ายภาพสุดคลาสสิคกับซุ้มประตูกาลเวลา รวมถึงมาสักการะไหว้พระ และในระแวกวัดยังมีสระน้ำรอบวัดสำหรับปล่อยปลา

รวมถึงชาวบ้านในพท้นที่มีการตั้งร้านขายของอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาเยือน เรียกได้ว่าไม่เปลี่ยนไม่น่ากลัว แต่ร่มรื่นน่าเที่ยวมาก สำหรับใครที่ยังไม่เคยแวะไปงานนี้ไม่น่าพลาด

แต่แนะนำให้ไปในช่วงบ่ายแก่ๆ หรือ เย็นพระอาทิตย์คล้อยๆ แดดร่มลมตก หรือจะไปแต่เช้าตรู่รับพระอาทิตย์ขึ้นก็จะได้บรรยากาศสวยสมใจนักเซลฟี่ เพราะแสงอาทิตย์ลอดช่องประตู เป็นอะไรที่ดู คลาสสิค เป็นอันมากเลยทีเดียว
เครดิตข้อมูล อ้างอิงจาก เสียงสะท้อนจากอดีต ตอน มุมมองใหม่ ศิลปะอยุธยา 417 ปี ดร.ฉันทัส เพียรธรรม https://www.youtube.com/user/taspien