อาการเป็นยังไง? คลังอ้างโควิดฟาดงาปัญหาเศรษฐกิจ งดประกาศตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 1-2 ชั่วคราว ให้ใช้ของสภาพัฒน์ฯ ไปก่อน คาดการณ์ทั้งปีขยายตัวติดลบ 5.5%
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยเกี่ยวกับตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี โดยระบุว่า กระทรวงการคลังจะงดแถลงตัวเลขประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 – 2 เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะเข้าสู่ภาวะปกติ และคลังจะใช้ตัวเลขประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือ สศช. ไปก่อน
ซึ่งทางสภาพัฒน์ฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงกระทรวงการคลัง ประเมินเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคาดว่าได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างมาก ซึ่งทุกแห่งก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะขยายตัวติดลบมากที่สุดของปี เพราะมีการล็อกดาวน์ประเทศธุรกิจผู้ประกอบการต้องปิดกิจการ แต่เชื่อว่าไตรมาส 3 และ 4 จะขยายติดลบน้อยกว่าไตรมาส 2 เพราะเริ่มการคลายล็อกทางเศรษฐกิจ
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ที่ สศช. ประกาศออกมาขยายตัวติดลบ 1.8% ดูเหมือนน้อย เพราะรัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์ประเทศและเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2563 แต่ในไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะขยายตัวลบมาก ส่วนเป็นเท่าไรต้องรอตัวเลขของ สศช. ประกาศเป็นทางการ ซึ่ง สศช. ประมาณการว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัวติดลบ 5-6% หรือ ติดลบ 5.5%
สำหรับกรณี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.75% เหลือ 0.50% เพราะ กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดย กนง. คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวติดลบ 5.3% ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไปควบคู่กับการออกมาตรการทางการคลังที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
โดยคลังจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังจากที่สถานการณ์การระบาดเข้าสู่ภาวะปกติ โดยแต่ละมาตรการจะต้องดูเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติมากที่สุด ส่วนข้อเสนอของเอกชนที่เสนอให้คลังออกมาตรการชิมช้อปใช้และท่องเที่ยว ไปลดหย่อนภาษีได้ สศค. เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม เพราะตอนนี้ยังมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีการประกาศเคอร์ฟิว มีการขอความร่วมมือเดินทางข้ามจังหวัด และการเปิดห้างสรรพสินค้าก็ยังมีข้อจำกัด