ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯลดต่ำสุดรอบทศวรรษ รถยนต์ –มอเตอร์ไซค์ยอดขายหด!

โควิด-ล็อกดาวน์พ่นพิษใส่ภาคอุตสาหกรรมเต็มๆ หลังดัชนีความเชื่อมั่นลดต่ำสุดในรอบ 11 ปี จี้รัฐเร่งมาตรการสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการพร้อมเสนอลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% พยุงเศรษฐกิจ เอื้อกิจการไม่ให้ปิดตัว ขณะที่ยอดขายรถยนต์ – มอเตอร์ไซค์ พาเหรดหดตัว เหตุคนไม่มั่นใจไม่กล้าใช้เงิน

Advertisement

นายสุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนเมษายน 2563 โดยจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนเมษายน 2563 มีทั้งสิ้น 24,711 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 83.55 จากการผลิตเพื่อส่งออกลดลงร้อยละ 81.76 และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 85.35 และลดลงจากเดือนมีนาคม 2563 ร้อยละ 83.17 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ปิดทำการ

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนเมษายน 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 30,109 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 65.02 และลดลงจากเดือนมีนาคม 2563 ร้อยละ 49.91 ยอดขายภายในประเทศลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนอยู่บ้านและไม่อยากใช้เงินเพราะรายได้และความเชื่อมั่นลดลง

ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 78,873 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2562 ร้อยละ 34.49 และลดลงจากเดือนมีนาคม 2563 ร้อยละ 46.25 ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2563 รถยนต์มียอดขาย 230,173 คัน ลดลงจากปี 2562 ในระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 34.17  ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 509,603 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – เมษายน 2562 ร้อยละ 12.51

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย.2563 อยู่ที่ระดับ 75.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 88.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2552 เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ส่งผลให้การใช้จ่ายและการบริโภคลดลงโดยเฉพาะสินค้าคงทน ผู้ประกอบการบางรายจึงชะลอการผลิต การลงทุน และลดการจ้างงาน จนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อในภาคเกษตร

“ส.อ.ท.ประเมินดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนนี้จะลดลงมากอยู่แล้วเพราะเป็นเดือนที่มีการล็อกดาวน์ทั้งเดือน แต่ยอมรับว่าดัชนีฯ เดือนเม.ย.ลดลงมากจนน่าใจหายเกือบ 13 จุด อยู่ที่ระดับ 75.9 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนและยังเป็นการลดลงต่ำสุดในผู้ประกอบการทุกขนาดกิจการ จึงหวังว่าเดือนพ.ค.จะปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศเริ่มคลี่คลาย”

โดยผู้ประกอบการ 69.5% ยังมีความกังวลมากเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง ทำให้ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 88.8 ลดลงจากครั้งก่อนอยู่ที่ 96.0 ต่ำสุดตั้งแต่เดือนพ.ค.2552 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการประกอบกิจการในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่ชะบอตัวลงภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งยังไม่มีความแน่ชัดว่าวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อใด

สำหรับแนวโน้มการปิดกิจการนั้น มีคณะกรรมการโควิด-19 พิจารณามาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่เป็นปัญหาหลักของผู้ประกอบการ เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันนี้(20 พ.ค.2563) เห็นว่าควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% มาอยู่ที่ 0.25% เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว หรืออย่างน้อยก็ช่วยให้ภาคเอกชนกลับมาสู่กระบวนการผลิตในต้นทุนที่ถูกลง ลดค่าใช้จ่ายได้ในภาวะวิกฤตที่ค่อนข้างจะยืดยาวและไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่