สมัยนั้น ภิกษุสองรูปเป็นพี่น้องกัน ชื่อยเมฬะและเกกุฏะ เป็นชาติพราหมณ์ พูดจาอ่อนหวาน เสียงไพเราะ ทั้งสองรูปนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายต่างชื่อ ต่างโคตร ต่างชาติ ต่างสกุลกันเข้ามาบวช พวกเธอจะทำพระพุทธวจนะให้ผิดเพี้ยนด้วยภาษาของตน ถ้าอย่างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะขอยกพระพุทธวจนะขึ้นโดยฉันท์”
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉน พวกเธอจึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะขอยกพระพุทธวจนะขึ้นโดยฉันท์ ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย การกระทำของพวกเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส … ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงยกพุทธวจนะขึ้นโดยฉันท์ รูปใดยกขึ้น ต้องอาบัติทุกกฏ
เราอนุญาตให้เล่าเรียนพุทธวจนะตามภาษาเดิม ฯ
วินัยปิฎก จุลลวรรค ขุททกขันธกะ ว่าด้วยเรื่องไม้เท้า, สาแหรก เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=180&items=5&mode=bracket
——————————————————
…น, ภิกฺขเว, พุทฺธวจนํ ฉนฺทโส อาโรเปตพฺพํ. โย อาโรเปยฺย, อาปตฺติ ทุกฺกฏสฺส. อนุชานามิ, ภิกฺขเว, สกาย นิรุตฺติยา พุทฺธวจนํ ปริยาปุณิตุน”ฺติ.
http://www.84000.org/tipitaka/read/byitem_s.php?book=7&item=180&items=5&mode=bracket
อรรถกถาบาลีอธิบายว่า “โดยฉันท์” (ฉนฺทโส) ได้แก่ การแปลสู่ภาษาสันสกฤต(สกฺกฏภาสา) ซึ่งการแปลพระวินัยปิฎกภาษาไทยส่วนใหญ่ก็อิงตามอรรถกถาจึงแปลว่า “ยกพุทธวจนะขึ้นโดยภาษาสันสกฤต”
*จุดนี้ย่อมยังให้เกิดคำถามว่าเหตุใดพุทธศาสนาบางนิกายจึงใช้ภาษาสันสกฤต เป็นการขัดแย้งกับพุทธบัญญัติหรือไม่?
แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ของภาษาจะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เนื่องจากภาษาสันสกฤตแบบแผนยังไม่ได้ถูกเรียบเรียงไว้ในสมัยพุทธกาล หรืออีกนัยหนึ่งในสมัยพุทธกาลยังไม่มีภาษาที่เรียกว่า “สันสกฤต”
“ฉันท์” ในที่นี้ ณ จะมีความหมายตามตัวอักษรถึงรูปแบบการประพันธ์อย่างพระเวทที่ใช้ในการสวดท่องและประกอบพิธีกรรมของพราหมณ์ เป็นภาษาเก่าแก่และซับซ้อน ยากแก่การเข้าใจและเข้าถึงของบุคคลทั่วไป จะเป็นเหตุให้ธรรมะกลายเป็นสิ่งสูงส่ง ลึกลับ ห่างไกลผู้คน คล้ายพิธีกรรมขรึมขลังแทนที่จะเป็นการปฏิบัติ และออกจะจำกัดชนชั้นด้วย มากกว่าจะเป็นการระบุถึงภาษาใดภาษาหนึ่งโดยตรง
การแปลตามตรงเช่นนี้สอดคล้องฉบับแปลอังกฤษของ ใช้คำว่า metrical form (รูปแบบมาตราฉันท์)
…the speech of the Awakened One should not be given in metrical form…Kd15.33.1
https://suttacentral.net/pli-tv-kd15/en/horner-brahmali
การแปลพระวินัยในภาษาไทยส่วนใหญ่ที่อ้างอิงว่า”ฉนฺทโส = โดยภาษาสันสกฤต” จึงถูกเพียงครึ่งเดียว เนื่องจาก “ฉันท์” ในที่นี้ก็คือมาตราของคำประพันธ์ที่ใช้ในคัมภีร์พระเวทที่ถูกสืบทอดมายาวนานอันมีกฎระเบียบชัดเจน มากกว่าจะเป็นเรื่องของภาษา แต่กระนั้นก็มีจุดสัมพันธ์กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก”ฉันท์”นี้ใช้ภาษาเก่าแก่ของเผ่าอารยันที่เรียกว่า ภาษาพระเวท(Vedic)หรือไวทิก(वैदिक) น่าจะรจนาโดยปากเปล่าตั้งแต่1000 ปีก่อนค.ศ. (สันนิษฐานว่าเป็นภาษาพูดของเผ่าอารยันประมาณ 2000-1000 ปีก่อนค.ศ.) แต่เมื่อถึงสมัยพุทธกาลภาษานี้ไม่ได้ถูกใช้ในชีวิตประจำวันและไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับบุคคลทั่วไปอีกแล้ว จนกระทั่งประมาณศตวรรษที่ 4 ก่อนค.ศ. พราหมณ์แห่งแคว้นคันธาระชื่อ ปาณินิ(Pāṇini; पाणिनि) ชาวเมืองศาลาตุระ (ปัจจุบันคือปากีสถาน)ได้นำภาษาพระเวทเก่ามาปรับปรุงใหม่และเรียบเรียงเป็นตำราไวยากรณ์ชื่อว่า อัษฏธยายี(अष्टधयायी) ภาษาที่ถูกปรับปรุงใหม่นี้จึงถูกเรียกว่า “สํสฺกฤต” (संस्कृत saṃskṛta) แปลว่า “ถูกทำไว้ดีแล้ว/ได้รับการจัดระเบียบแล้ว” มีหลักฐานประปรายว่าพราหมณ์ปาณินิมีชีวิตอยู่หลังพุทธกาลและน่าจะอยู่ในสมัยที่รู้จักการเขียนแล้ว
หลังจากที่ปาณินิได้จัดระบบไวยากรณ์ใหม่ สันสกฤตก็ได้กลายเป็นภาษาได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและถูกนำมาใช้เป็นภาษากลางของอินเดียใหญ่ที่สำหรับวงการวรรณกรรมและปรัชญา
ดังนั้นนักวิชาการปัจจุบันจึงแบ่งภาษาสันสกฤตออกเป็นสองยุค
1. สันสกฤตพระเวท (Vedic Sanskrit) หรือภาษาพระเวท(ไวทิก)
2. สันสกฤตแบบแผน (Classical Sanskrit)
*ฉันท์ ที่มีพระพุทธบัญญัติห้ามใช้สืบทอดคำสอนจึงควรหมายสันสกฤตแบบแรกหรือภาษาพระเวท(ซึ่งแต่เดิมไม่เรียกว่าสันสกฤต) ด้วยสาเหตุในแง่อายุเวลาของภาษาและวัตถุประสงค์การใช้งาน
อันที่จริง อรรถกถาพระวินัยของบาลีได้อธิบายไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า
“ฉนฺทโส อาโรเปมา”ติ เวทํ วิย สกฺกฏภาสาย วาจนามคฺคํ อาโรเปมฯ :”ฉนฺทโส อาโรเปม” มีความว่า ยกพระพุทธวจนะขึ้นสู่ทางแห่งการกล่าวด้วยภาษาสังสกฤตเหมือนพระเวท
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=1
แต่เดิมพระพุทธเจ้าสนับสนุนให้ศึกษาคำสอนของพระองค์ด้วยภาษาท้องถิ่นต่างๆ(vernacular dialects) อันได้แก่ ภาษาตระกูลปรากฤต(Prakrits) และหลีกเลี่ยงภาษาเชิงชนชั้น ทว่าสันสกฤตได้ค่อยๆกลายมาเป็นภาษากลางทางพุทธศาสนา
• ริเริ่มโดยกลุ่มชาวพุทธทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียในราชวงศ์กุษาณ(Kushan ค.ศ.30-375) นิกายสรรวาสติวาทเขียนอภิธรรมด้วยภาษาสันสกฤต เช่นเดียวกับที่แปลงพระสูตรและพระวินัยเป็นสันสกฤต พุทธกลุ่มนี้อยู่ในเขตแคว้นคันธาระอันเป็นบ้านเกิดของปาณินิและภาษาสันสกฤต
• อนึ่ง นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า “ประชากรส่วนใหญ่ในภูมิภาคอัฟกานิสถานและแบกเตรียพูดสำเนียงท้องถิ่นของภาษาสันสกฤต”
ภาษาในภูมิภาคก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ชาวพุทธยินยอมใช้ภาษาสันสกฤตโดยไม่มองว่าขัดพุทธประสงค์ กล่าวคือเพื่อให้คนท้องถิ่นเข้าใจ เป็นภาษากลางระหว่างแดน และไม่ได้เป็นมาตราฉันท์อย่างพิธีกรรมพราหมณ์
สาเหตุหลักที่ทำให้ชาวพุทธรุ่นต่อมาตลอดทั่วอินเดียยอมรับภาษาสันสกฤตมาใช้เป็นภาษาหลัก ก็ด้วยสาเหตุที่มันได้กลายเป็นภาษากลางในการแลกเปลี่ยนความคิดท่ามกลางภูมิภาคท้องถิ่นที่หลากหลายทั่วอินเดีย เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีการศึกษา ทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือ และอำนาจทางการเมือง ความรู้ภาษาสันสกฤตทำให้สามารถที่จะเข้าถึงและดึงดูดกลุ่มปัญญาชนโดยเฉพาะพราหมณ์และสร้างศรัทธาแก่เหล่ากษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นที่จำเป็นต่อการอุปถัมภ์วัดวิหารใหญ่ๆเช่นที่นาลันทา ซึ่งเป็นสาเหตุอันพ้นเลยไปจากการจำกัดกลุ่มชนหรือทำให้เป็นพิธีกรรมขลัง หากแต่เพื่อขยายธรรมะสู่การเข้าถึงผู้คนที่หลากหลายกว่า
• นิกายสรรวาสติวาทเขียนอภิธรรมในนิกายของตนด้วยภาษาสันสกฤต
• พระสูตรมหายานทั้งหลาย เช่น ปรัชญาปารมิตาสูตร สัทธรรมปุณฑรีกสูตร เขียนขึ้นด้วยภาษาสันสกฤตแบบผสม
• ภาษาสันสกฤตแบบแผน ริเริ่มใช้โดยพระอัศวโฆษ (ราวค.ศ.100) ในมหากาพย์พุทธจริต อันเป็นวรรณกรรมแนวชีวประวัติชิ้นแรกสุดในภาษาสันสกฤต
• พระอาจารย์และนักปราชญ์พุทธที่ยิ่งใหญ่เช่น นาคารชุน ธรรมกีรติ และวสุพันธุ ต่างเขียนงานของตนในภาษาสันสกฤต
————————————–
๐ ภาษาสันสกฤตแบบพุทธ(Buddhist Sanskrit)
หรือ ภาษาสันสกฤตผสมแบบพุทธศาสนา(Buddhist Hybrid Sanskrit) จัดอยู่ในกลุ่มภาษาอินโดอารยันยุคกลางระยะกลาง เป็นความพยายามในระหว่างที่ชาวพุทธพยายามจะแปรภาษาปรากฤต(ที่เคยใช้สืบทอดพระไตรปิฎกยุคแรกผ่านปากเปล่ามาก่อน)มาปรับลักษณะเชิงสัทศาสตร์ให้เป็นสันสกฤต แต่ก็ไม่เป็นสันสกฤตเต็มรูปแบบ และทิ้งร่องรอยของปรากฤตไว้มากมาย เป็นที่ยืนยันแน่นอนว่าภาษานี้มีความใกล้ชิดกับบาลีมากกว่าสันสกฤต
ตัวอย่าง เช่น ภิกฺขุสฺส भिकखुस्स “ของภิกษุ” ในภาษาปรากฤต(และบาลี)
ถูกแปรรูปเป็น ภิกษุสฺย भिक्षुस्य /ไม่ใช่ ภิกฺโษะ भिक्षोः ตามหลักภาษาสันสกฤต
บางท่านเสนอว่านี้เป็นภาษาต่างหากอีกชนิดหนึ่ง แต่ทว่ามันก็มิได้มีเนื้อหาทางภาษาที่แยกขาดจากสันสกฤตอย่างชัดเจนมากพอ
ภาษาที่แปลกประหลาดนี้ถูกค้นพบใหม่จากชิ้นส่วนคัมภีร์พุทธทางโบราณคดีเท่านั้นและไม่ปรากฏว่าเคยถูกใช้นอกวงการพุทธศาสนาเลย ไวยากรณ์เฉพาะตัวแบบพุทธของภาษานี้บ่งชี้ว่าเป็นลำดับย่อยของการสืบทอดทางภาษาที่แยกขาดจากสันสกฤตมาตรฐาน และย้อนไปไกลสุดถึงรูปแบบกึ่งสันสกฤตของปรากฤตที่ใช้ในพระไตรปิฏกยุคแรก คำศัพท์เฉพาะของภาษานี้จำนวนหนึ่งจำกัดใช้ในวงการพุทธเท่านั้นและเป็นคำเดียวกับที่ใช้ในบาลีจำนวนมาก ซึ่งเหมือนจะรับรองว่าเกือบทั้งหมดของคำศัพท์เหล่านี้อยู่ในไวยากรณ์พิเศษของปรากฤตในพุทธศาสนาสำหรับพระไตรปิฎกยุคแรกร่วมกัน
https://en.wikipedia.org/wiki/Sanskrit_Buddhist_literature
https://en.wikipedia.org/wiki/Sanskrit#Classical_Sanskrit
https://en.wikipedia.org/wiki/P%C4%81%E1%B9%87ini
https://en.wikipedia.org/wiki/Buddhist_Hybrid_Sanskrit