วิกฤติโควิดหนักกว่าต้มยำกุ้งปี40!! “สมคิด”เล็งกู้เงิน 2 แสนล้านบาทเยียวยาฟื้นเศรษฐกิจ!!

ซมพิษไวรัสโควิด  เศรษฐกิจไทยอาการหนัก! “สมคิด” หารือแบงค์ชาติ –ก.คลัง หามาตรการเยียวยา สบช่องเสนอออกกฏหมายกู้เงิน 2 แสนล้านบาท เยียวยาทุกฝ่าย

Advertisement

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการ ธปท.  ผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อเตรียมออกมาตรการเยียวยา ดูแลผลกระทบจากปัญหาไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 3 ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า  ทั้งนี้ยอมรับว่าปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขยายวงกว้าง สร้างปัญหาทุกกลุ่ม เทียบกับ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน อสังหาฯ ผู้ประกอบการ  แต่ปัญหาครั้งนี้กระทบไปยังทุกกลุ่มทั้งรายย่อยและประชาชนทั่วไป จนทำให้ ธปท.คาดการณ์ จีดีพีปี63 ติดลบร้อยละ -5.3 ขณะที่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ติดลบร้อยละ -10 จึงต้องร่วมมือทุกฝ่ายแก้ปัญหาด้วยกัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ (กลาง)

อย่างไรก็ตาม การเกลี่ยงบประมาณปี 63 เพื่อนำงบประมาณของหลายกระทรวงนำมาใช้แก้ปัญหาประเทศครั้งนี้ ต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะเป็น พ.ร.บ.งบประมาณ การโอนเงินงบประมาณจึงดำเนินการได้ยาก จึงขอให้ทุกกระทรวงปรับงบประมาณ นำมาแก้ปัญหาด้วยการเกลี่ยงบมาใช้  ด้านปัญหาโควิดตามภารกิจของหน่วยงาน  ส่วนกระทรวงคลังจะกำลังศึกษาว่า เงินกู้แก้ปัญหาใหญ่ครั้งนี้ ต้องใช้ฟื้นฟู ช่วยเหลือเยียวยาทุกลุ่มอย่างไร ในขณะที่กองทุนไอเอ็มเอฟ พร้อมให้ทุกประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาใช้เงินกู้ดังกล่าวฟื้นฟูประเทศด้วยเช่นกัน  ยอมรับว่าต้องใช้เงินก้อนใหญ่ฟื้นฟูประเทศในครั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจทั้งโลกชะลอตัว

นอกจากนี้รัฐบาลต้องการใช้วิกฤติครั้งนี้ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ยึดปูพื้นฐานเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐกาลที่ 9 เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่น ทั้งด้านภาคการผลิต เกษตรกร การจ้างงาน เพื่อให้หน่วยงานรัฐ ทั้ง กระทรวงเกษตรกฯ  ธ.ก.ส. ออมสิน  กองทุนหมู่บ้านฯ รวมไปถึงภาคเอกชน เช่น ปตท. มาร่วมกันทั้งด้านการผลิต กระจายสินค้า การตลาด เพราะที่ผ่านมาเราพึ่งพาเศรษฐกิจการส่งออกมากเกินไป เมื่อภาคแรงงานเดินทางกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ต้องพิจารณาแนวทางการสร้างงาน สร้างอาชีพในท้องถิ่นให้กลุ่มคนเหล่านี้ ด้วยการให้ทุกหน่วยงานเข้าไปร่วมดูแล

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการเฟส 3 เตรียมใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อใช้เยียวยาเศรษฐกิจ ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะนี้ต้องศึกษาแนวทางการใช้เงิน เพื่อช่วยเหลือส่วนไหนบ้าง  เพราะการนำเงินไปใช้แต่ละส่วนมีความสำคัญมาก ต้องดูว่าควรนำงบไปแก้ปัญหาตรงจุดไหนบ้าง และฟื้นฟูประเทศ  ทั้งการช่วยลดภาระค่าครองชีพ ประชาชน และดูแลเศรษฐกิจภาพรวม เมื่อเหตุการณ์แพร่ระบาดไวรัสคลี่คลายลง เศรษฐกิจประเทศต้องเข้มแข็งเพียงพอที่จะเดินหน้าต่อไปได้ ช่วงนี้ขอวางแผนการใช้เงินเยียวยาทั้งจำนวนเงินและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะที่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ย้ำว่า ปัญหาการปิดกองทุนรวม 4 กองทุน ของสำหรับกองทุนหุเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่มีความแตกต่างจากกองทุนตราสารหนี้อื่นๆ ในอุตสาหกรรม โดยมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศสูง  จะไม่ลุกลามไปยังกองทุนรวมที่เหลืออยู่กว่า 60 กองทุน เพราะเชื่อว่ามาตรการของ ธปท. เข้าไปดูแลสภาพคล่องจะไม่มีปัญหา และยังมีธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บลจ.เข้าไปดูแล  กองทุนที่เหลือลงทุนในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น หากผู้ถือหน่วยลงทุน ต้องการใช้เงินเสริมสภาพคล่อง ให้นำหน่วยลงทุนไปใช้ค้ำประกันการกู้เงินได้ จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนกแห่ถอนหน่วยลงทุน

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้ม

 

สำหรับแนวทางป้องกันไม่ให้เปิดปัญหาหนี้ NPL สูงเพิ่มขึ้นในระบบ ประสานขอให้สถาบันการเงิน เจรจาหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย ธปท. พร้อมผ่อนปรนเงื่อนไขการตั้งสำรองหนี้สูญ เพื่อไม่ให้นี้เสียสูงขึ้นในระบบ ธปท.ได้ออกแนวปฏิบัติขั้นต่ำสำหรับการออกสินเชื่อ เพื่อไม่ให้ประชาชนไม่ต้องกังวล ทั้งการรูดบัตรเครดิต เงินกู้ส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บางส่วนให้ลดการต่ำขั้นต่ำ บางแห่งพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย บางแห่งพักเฉพาะเงินต้น ขึ้นอยู่กับประเภทของผลิตภัณฑ์การเงิน นับเป็นกลไกขั้นต่ำที่ต้องดำเนินการ และย้ำว่าในสถานการณ์ช่วงนี้ ขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินพิจารณา เรื่องภาระหนี้เพิ่มเติมอีกตามฐานลูกค้าของแต่ละประเภท และอยากให้ติดต่อกับแบงก์ทางออนไลน์แทนสายด่วน ซึ่งติดต่อกับแบงก์รอสายนานเกินไป เพื่อฝากคำถามและเร่งตอบกลับลูกค้า ในการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ป้องกันหนี้เสียไม่ให้สูงขึ้น  ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด