รองนายกรัฐมนตรีกระตุก ก.ดีอี ขับเคลื่อนสารพัดโครงการ ตามเรื่อง “เน็ตประชารัฐ” ต้องเป็นรูปธรรม จี้ สนง.สถิติ ทำงานให้เป็น 4.0 สร้าง Big Data เป็นฐานข้อมูลพัฒนาประเทศทุกมิติ ขณะที่ ไปรษณีย์ –TOT ต้องเน้นเรื่อง E-COMMERSหนุนสินค้าชุมชนไทยสู่สากล เคาะโต๊ะ “ควรจับต้องได้สิ้นปีนี้”
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมหน่วยงานในสังกัดฯ สามารถส่งเสริมด้านเศรษฐกิจของประเทศ มีความคืบหน้าเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ “เน็ตประชารัฐ” ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงพร้อมส่งมอบการให้บริการ “Wi-Fi เพื่อประชาชน” แล้วกว่า 14,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ตนได้เน้นย้ำว่าเป้าหมายของโครงการดังกล่าว ไม่ใช่เพียงให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ รวมถึงอีกหลายๆ ด้าน
“สิ่งที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับประโยชน์จากโครงการ “เน็ตประชารัฐ” คือ เรื่องของการศึกษา สาธารณสุข หรือการทำธุรกิจต่างๆ ในรูปแบบอี-คอมเมิร์ซ โดยขณะนี้หลายๆ ภาคส่วนได้ให้ความสำคัญในการทำธุรกิจออนไลน์เป็นอย่างมาก เกี่ยวกับเรื่องนี้ภาครัฐต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ต้องร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ในการสร้างความร่วมมือจากภาคเอกชนต่อยอดในเรื่องดังกล่าว นับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขนส่งสินค้า โดยในปีหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการปรับแผนเรื่องงบประมาณ ซึ่งจะส่งผลดีกับโครงการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ดร.สมคิดฯ กล่าว
นอกจากนี้ การจัดตั้งสถาบัน IoT (Internet of Things) และการสร้างศูนย์ข้อมูล Big Data ซึ่งสองเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก กระทรวงดิจิทัลฯ จะต้องวางแผนการดำเนินงานให้เกิดความสอดคล้องกับอนาคตข้างหน้า ในส่วนของความคืบหน้าเรื่อง Digital Park Thailand นั้น ดร.สมคิด กล่าวว่า “ประเทศไทยมีศักยภาพมากอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้ชัดในแต่ละขั้นตอนการทำงาน และสื่อสารให้นักลงทุนต่างชาติได้เห็น พร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน”
ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องขับเคลื่อนต่อคือการทำให้โครงการต่างๆ เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะเรื่องของ อี-คอมเมิร์ซหมู่บ้าน ซึ่งเจ้าภาพหลักจะเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยจะดำเนินการ 3 เรื่องไปพร้อมๆ กัน คือ 1) อี-มาร์เก็ตเพลส ที่จะทำให้คนในแต่ละหมู่บ้าน และร้านโชห่วยในหมู่บ้านนั้นๆ สามารถขายสินค้า และบริหารจัดการสินค้าได้ด้วยตนเอง 2) อี-เพย์เมนท์ คือการเชื่อมโยงกับทุกธนาคารทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงบริการพร้อมเพย์ของกระทรวงการคลัง เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน และ 3) อี-โลจิสติกส์ ซึ่งไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ดำเนินการ โดยในอนาคตหากมีเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการนับเป็นสิ่งที่น่ายินดี ทั้งนี้ ในช่วงแรกนี้ได้มีการวางระบบ Point of Sale เพื่อที่จะทำให้คนในชุมชนสามารถใช้โชห่วยในพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสินค้า และเป็นศูนย์กลางในการเก็บสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าในชุมชนสามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกได้
สำหรับโครงการ “ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์” กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และประกาศเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งต่อไปจะกำหนดให้ชัดว่าในแต่ละตารางเมตรบนพื้นที่กว่า 700 ไร่นั้น จะใช้ทำอะไรบ้าง และจะมีการออกแบบพื้นที่อย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่จะดึงนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามา ซึ่งต้องสร้างสิ่งจูงใจนักลงทุนเหล่านั้น อาทิ เรื่องของสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนทั้งหลายจะได้รับ รวมถึงการสร้างความสะดวกในการเข้ามาทำงานให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลจากต่างประเทศ
ด้านการจัดตั้งสถาบัน IoT กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยจะดำเนินการสร้างอาคารร่วมกับต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการดำเนินงานด้านต่างๆ พร้อมทั้งยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้
นอกจากนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้รับมอบหมายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำศูนย์ข้อมูล Big Data ซึ่ง สสช.ต้องทำงานในลักษณะ 4.0 โดยต้องจัดเก็บข้อมูลต่างๆ จากภาครัฐ มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด โดย ดร.สมคิดฯ รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่า สสช. ควรสำรวจข้อมูลด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ประกอบการทำงานด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป