นักวิชาการประนามรัฐไร้นิติธรรมยุบอนาคตใหม่ พร้อมชวนปชช.เรียกร้องปชต.

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ผ่านมานั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งสังคมไทย ในทุกวงการมีการกล่าวถึงเรื่องนี้เป็นอันมาก คนเชียร์ก็โกรธ คนไม่ชอบก็เฮ..และในมุมของ “อนุสรณ์ ธรรมใจ” อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี อดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยมองกรณีดังกล่าวว่า..

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี
อดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย

ความเห็นต่อกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่และการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญโดย สสร
การตัดสินใจยุบพรรคอนาคตใหม่ สะท้อนให้เห็นว่า ระบอบกึ่งประชาธิปไตยของไทยขณะนี้ยังคงถูกแทรกแซงโดยเครือข่ายของฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย เนื่องจากประเทศไทยมีการยุบพรรคการเมืองมาหลายพรรคแล้วและในหลายกรณีปรากฎในภายหลังว่าไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา และ ผู้ที่ถูกลงโทษทางการเมืองหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองต่างๆก็ไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายและยังไม่มีการคืนความเป็นธรรมแต่อย่างใด ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจำนวนมากจึงไม่มีโทษยุบพรรคการเมือง เนื่องจาก พรรคการเมืองเป็นสถาบันของประชาชนและเป็นองค์กรพื้นฐานที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยของประเทศมีความเข้มแข็งมั่นคง

Advertisement

การพยายามรักษาอำนาจของกลุ่มปรปักษ์ประชาธิปไตยด้วยการใช้อำนาจรัฐประหารก็ดี การใช้ตุลาการภิวัฒน์ก็ดี ร่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องก็ดี การใช้นิติสงครามด้วยการบิดเบี้ยวในการบังคับใช้กฎหมายก็ดี การมีระบบยุติธรรมแบบหลายมาตรฐาน (ซึ่งเท่ากับไม่มีมาตรฐาน) เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศนี้ไม่มี นิติรัฐ และ ไม่มีนิติธรรม การที่ประเทศไม่มี Rule of Law ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากโดยเฉพาะส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน และ จะส่งผลกระทบมากยิ่งขึ้นในอนาคต นิติรัฐไม่ใช่เพียงการปกครองโดยกฎหมายในทางรูปแบบเท่านั้น แต่ต้องโดยเนื้อหาของกฎหมาย หมายความว่า เมื่อมีกฎหมาย ไม่ใช่กฎหมายจะมีเนื้อหาอย่างไรก็ได้ หากเนื้อหาของกฎหมายขัดกับหลักพื้นฐานของความยุติธรรม ขัดหลักการประชาธิปไตย ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ขัดกับหลักศีลธรรมจรรยา และ เนื้อหาอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงได้ เป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องร่วมกันแก้ไขเนื้อหากฎหมายดังกล่าว เมื่อเนื้อหากฎหมายเป็นไปตามหลักการอันถูกต้องดีงามภายใต้การมีส่วนร่วมและยึดโยงกับประชาชน

รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎเกณฑ์และองค์กรอิสระจำนวนหนึ่งเกิดขึ้นจาการทำรัฐประหารหรือเป็นผลพวงของรัฐประหาร กฎหมายในทางรูปแบบจึงถูกตั้งคำถามในเชิงความยุติธรรมในทางเนื้อหามาโดยตลอด ประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้งเช่นในประเทศไทยจึงมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยเรื่องต่างๆอย่างเป็นอิสระอย่างแท้จริงโดยยึดถือความยุติธรรม ชั่งประโยชน์ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียบ ผสมผสานหลักนิติศาสตร์หลักรัฐศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม ปัญหาความขัดแย้งก็จะบรรเทาลงได้ หากศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคุณค่าพื้นฐานทางด้านความยุติธรรมแล้ว กรณีการยุบพรรคการเมืองอันเป็นสถาบันของประชาชน การตัดสิทธิทางการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ สังคมจะเกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นและผลร้ายจากการใช้อำนาจดังกล่าวจะติดตามมาอีกมากมาย

ขอเป็นกำลังใจให้กับนักการเมืองรุ่นใหม่ทุกคน ขอเป็นกำลังใจให้กับกรรมการบริหารและสมาชิกพรรคอนาคตไทยทุกคนที่มีความตั้งใจในการทำงานเพื่อประชาชนและมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ขออย่าได้ท้อถอย ความเสียสละ ความกล้าหาญ ของท่านทั้งหลายในวันนี้และวันหน้า จะทำให้ “ขบวนการประชาธิปไตย” เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ
ความฝันที่พวกเราทั้งหลายในขบวนการประชาธิปไตยต้องการให้ประเทศนี้มีสันติธรรม ประเทศนี้มีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงก้าวหน้า ความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเอง รัฐสภาเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับความหลากหลายทางการเมือง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และ ประเทศนี้เป็นของประชาชน จะต้องมาถึงอย่างแน่นอน หากทุกคนยังคงอดทน มุ่งมั่นและไม่ละทิ้งความตั้งใจอันดีงามต่อประชาชนและประเทศชาติ

ภารกิจเฉพาะหน้าในวันนี้ คือ การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยอำนาจของประชาชนผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน ร่วมผลักดันการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปศาสนา ปฏิรูปค่านิยมวัฒนธรรม ปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกองทัพ และ ปฏิรูประบบยุติธรรม ความพยายามในการปฏิรูปเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง การจะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน แผนงานและโครงการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ที่กระผมและคณะได้ริเริ่มเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2549 และต้องสะดุดหยุดลงด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ภารกิจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ภารกิจในการต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของพี่น้องประชาชนชาวไทย ภารกิจในการปฏิรูปประเทศ เป็นภารกิจที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจ ความอดทน การไม่ละทิ้งเป้าหมาย เปรียบเหมือนการเดินทางไกลซึ่งต้องใช้เวลา ในระหว่างทางอาจมีคนเจ็บป่วย หรือ เสียชีวิต หรือ ละทิ้งความตั้งใจอันดีงาม หรือ ถูกสกัดกั้นด้วยวิธีการต่างๆ หรือ เหนื่อยล้าและหยุดเดิน แต่ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ตาม อย่าสูญเสียความมุ่งมั่นตั้งใจ อย่าท้อถอย หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล หากเขาไม่ให้เราบิน เราก็ต้องวิ่ง เขาไม่ให้เราวิ่ง เราก็เดิน เขาไม่ให้เราเดิน เราก็คลาน แต่ทุกๆครั้งที่เขาสกัดกั้น ขอให้พวกเราจงรู้ว่า เราเคลื่อนไปข้างหน้าเสมอและด้วยพลังใจที่เข้มแข็งกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ขอพวกเราทั้งหลายผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย ได้ร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงภายใต้หลักการประชาธิปไตยด้วยพลังของประชาชน พรุ่งนี้ บ่ายโมง เจอกันที่ ห้อง ราณี โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน พบกับ ข้อเสนอประชาชน ต่อ กรรมาธิกาแก้ไขรัฐธรรมนูญและทางออกประเทศไทย และพรุ่งนี้ยังเป็นวันที่มีการก่อการรัฐประหารโดย รสช เมื่อ 29 ปีที่แล้ว และ เราหวังว่า การเคลื่อนไหวเพื่อสถาปนา รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยโดย สสร ปี 2563 นี้จะป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกในสังคมไทย และ ประชาชนจะอยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำลดลงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของประชาชน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี
อดีตประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย
22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563