หยุด!!! พฤติกรรมเสี่ยงโดนแฮก Fackbook

กระทรวงดิจิทัลฯ เตือนประชาชน ระวังการแฮกข้อมูล “เฟสบุ๊ค” ย้ำแนวทางป้องกันที่ดีที่สุด อย่าป้อนข้อมูลสำคัญไว้ในสื่อสังคมออนไลน์เด็ดขาด แนะเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน”เฟสบุ๊ค” กลายเป็นเป้าหมายในการแฮกข้อมูลของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งมีคดีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง โดยการแฮกเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เกิดขึ้นได้จากหลายกรณี อาทิ การถูกแฮกโดยแฮกเกอร์ ถูกคนรู้จักแฮก หรือโทรศัพท์มือถือหาย เป็นต้น

Advertisement

แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ส่งผลให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้นได้รับความเสียหายทั้งสิ้น
สำหรับวิธีการป้องกันการถูกแฮกข้อมูลบนเฟซบุ๊ก หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ นั้น มีดังนี้ 1.พยายามอย่าทำโทรศัพท์มือถือหาย

2.อย่าบันทึกรหัสผ่านสำหรับเข้าใช้งานเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์ไว้ในบราวเซอร์ของคอมพิวเตอร์

3. ควรเลือกใช้ Wi-Fi ของผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ แต่อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะถูกดักรหัสผ่านได้ ดังนั้น วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดคือการใช้อินเทอร์เน็ต 3G/4G ของเครื่องโทรศัพท์มือถือ

4.ควรใช้งานเฟซบุ๊ก หรือสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านทางแอปพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์นั้นๆ บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจะดีที่สุด พยายามหลีกเลี่ยงการใช้งานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือ PC (ยกเว้นเป็นเครื่อง PC ส่วนตัวที่บ้าน)

 

5.เพิ่มเบอร์โทรศัพท์บุคคลที่เราไว้ใจได้ เช่น พ่อแม่ ลงในบัญชีเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ใช้งาน เพื่อเอาไว้ยืนยันกรณีลืมรหัสผ่าน หรือกรณีที่เฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้นมีปัญหาไม่สามารถเข้าใช้งานได้

6.อย่าใส่เบอร์โทรศัพท์ของสมาร์ทโฟน ที่มีบัญชีเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์นั้นๆ เพราะหากผู้ไม่หวังดีครอบครองโทรศัพท์ของท่าน ก็จะสามารถเปลี่ยนรหัสผ่าน พร้อมให้ส่งรหัสใหม่เข้ามาในโทรศัพท์เครื่องนั้นได้ ซึ่งจะทำให้มิจฉาชีพได้เฟซบุ๊กหรือสื่อสังคมออนไลน์ของท่านไปใช้

7.พยายามเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นระยะ

8.ตั้งรหัสผ่านที่สามารถคาดเดาได้ยาก

ทั้งนี้ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ อย่าไว้ใจใครและ ไม่ควรให้รหัสผ่าน หรือฝากโทรศัพท์มือถือไว้กับผู้อื่น รวมทั้งไม่ควรให้ข้อมูลที่สำคัญไว้ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันขาด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา