กลับจากกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือเชื้อไวรัสอู่ฮั่นนอกจากผลที่เกิดในด้านของสุขภาพร่างกายแล้ว ในด้านของเศรษฐกิจก็ถือว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจเพราะแน่นอนว่าการเกิดโรคระบาดครั้งร้ายแรงขนาดนี้ย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว

สำหรับในกรณีดังกล่าว “ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพอการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความคิดเห็นไว้ดังนี้ “ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุใหม่โคโรนาไวรัสจะทำให้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียปีนี้อาจไม่กระเตื้องขึ้นอย่างที่คาด โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอาจต่ำกว่า 5.8% ในปีนี้ และอาจทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียแปซิฟิคในปีนี้ไม่ถึง 6%”
สำหรับผลกระทบที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยและเศรษฐกิจไทยนั้นถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง และน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว อาจารย์อนุสรณ์ มองว่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าการแพร่ระบาดของโรคซาร์แต่ผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตและอัตราการเสียชีวิตอาจไม่รุนแรงเท่าโรคไข้หวัดซาร์ และการแพร่ระบาดไม่น่าจะยืดเยื้อเท่ากรณีโรคซาร์เนื่องจากมีการใช้มาตรการเฉียบขาดทางด้านสาธารณสุขในการควบคุมโรค สาเหตุของผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจรุนแรงฉับพลันในระยะสั้นมากกว่าโรคซาร์เป็นผลมาจากการควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวด การปิดเมืองห้ามเข้าออกไปยังเมืองอูฮั่น เมืองจือเจียง เมืองซื่อปี้ เมืองหวางกาง รวมทั้งการสั่งห้ามจัดกิจกรรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศของทางการจีน
แม้ทางองค์การอนามัยโลกจะยังไม่ประกาศกรณีการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก แต่ต้องคอยติดตามสถานการณ์ว่า การปิดเมืองและการห้ามการเดินทางเข้าออกในหลายพื้นที่จะสามารถหยุดภาวะการแพร่ระบาดได้แค่ไหน มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองอาจจะขยายตัวได้เพียง 1.8-2.4%
ในเบื้องต้น คาดผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 80,000-120,000 ล้านบาทหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในต้นเดือนมีนาคม หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยและเอเชียได้ขณะนี้ ในเบื้องต้นจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนในปีนี้ลดลงประมาณ 1-2 ล้านคน และ นักท่องเที่ยวจากต่างชาติลดลงไม่ต่ำกว่า 2% ของเป้าหมาย รัฐบาลต้องการให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเป็น 41.8 ล้านคนในปีนี้และสร้างรายได้เพิ่มเป็น 2.2 ล้านล้านบาท ติดอันดับ 1 ใน 6 ของประเทศที่สร้างรายได้ท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกเศรษฐกิจไทยจึงเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นตามลำดับ
ผลกระทบจากโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่จึงกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงกว่าการแพร่ระบาดของโรคซาร์เมื่อ 17 ปีที่แล้ว องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า รายได้ของภาคท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก จะเติบโตไม่เกิน 7% เมื่อเจอกับการระบาดของไข้หวัดโคโรนาในจีนย่อมทำให้การเติบโตลดลงอาจไม่ถึง 5% ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวหรือธุรกิจเชื่อมโยงกันทำให้อัตราการเติบโตของรายได้รวมท่องเที่ยวไทยลดลงในปีนี้ ปี 2563 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจะหดตัวในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ทางการไทยควรปรับกลยุทธในการเพิ่มรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายต่อหัวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น มากกว่า เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไม่ควรนำเอามาตรการ ชิม ช้อป ใช้ อินเตอร์ หรือ แจกเงินฟรีให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเนื่องจากผิดหลักการของการดำเนินนโยบาย เพราะเงินที่เอามาแจกนั้นเป็นเงินของประชาชนผู้เสียภาษีชาวไทย หากจะกระตุ้นการท่องเที่ยว ควรบริหารจัดการค่าเงินบาทให้อ่อนค่า ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคร้ายให้ได้ แก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ มลพิษทางการอากาศ PM2.5 เร่งรัดให้สามารถนำงบลงทุนจากงบปี 2563 มาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จะแก้ปัญหาการท่องเที่ยวได้ดีกว่าเอาเงินภาษีประชาชนมาแจกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาก